เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #อินโดย้ายเมืองหลวง ! สภาผ่านร่าง กม.ตั้งชื่อใหม่ “นูซันตารา”

#อินโดย้ายเมืองหลวง ! สภาผ่านร่าง กม.ตั้งชื่อใหม่ “นูซันตารา”

4 February 2022
554   0

เมื่อไม่นานนี้อินโดนีเซียเพิ่งจะผ่านร่างกฎหมายอนุมัติให้มีการย้ายเมืองหลวงไปยังที่ใหม่ในชื่อ ‘นูซันตารา’ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ชื่อเมืองหลวงแห่งนี้ดูติดกับแนวคิด “เอาชวาเป็นศูนย์กลาง” รวมถึงความหมายของชื่อ ทั้งนี้ยังมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการรีบเร่งผ่านกระบวนการรัฐสภาและความกังวลว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชันงบประมาณรัฐ

4 ก.พ. 2565 นับตั้งแต่ที่สภาผู้แทนฯ ของอินโดนีเซียมีการผ่านมติให้มีการย้ายเมืองหลวงไปยังที่ใหม่ที่มีชื่อว่า “นูซันตารา” แต่ชื่อเมืองหลวงนี้ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียลมีเดียทันทีหลังจากที่มีการเปิดเผยชื่อก่อนผ่านมติไม่นาน

คำว่า “นูซันตารา” นั้นเป็นคำจากภาษาชวาเก่าซึ่งมีพื้นเพมาจากภาษาสันสกฤตที่แปลตรงตัวว่า “หมู่เกาะรอบนอก” แปลในบริบทของอินโดนีเซียจะหมายถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียทั้งหมด เรื่องนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าถ้าหากชื่อนี้กลายเป็นชื่อเมืองหลวงใหม่มันจะทำให้คนสับสนระหว่างเมืองหลวงกับประเทศทั้งประเทศได้ง่ายๆ

การเลือกชื่อนี้เป็นความจงใจที่จะสะท้อนแนวคิดแบบ “อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลาง” ของประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ผู้มีชื่อเล่นว่า “โจโควี” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนานอกเหนือไปจากเกาะชวา และหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนเมืองหลวงด้านการบริหารประเทศจากจาการ์ตาไปยังจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งในเชิงภูมิศาสตร์แล้วใกล้กับศูนย์กลางของหมู่เกาะมากกว่า

อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ก็บอกว่าชื่อเมืองหลวงกลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายของผู้นำจากการที่มันเป็นภาษาที่ “เอาชวาเป็นศูนย์กลาง” จากการที่ในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียมีการเสนอคำว่า “นูซันตารา” โดยอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งเป็นจักรวรรดิของชวาในช่วงยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 ที่ทำการใช้กำลังยึดครองอินโดนีเซียได้ทั้งหมด มีหนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์ตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่ใช้ชื่อภาษาบอร์เนียวทั้งๆ ที่เมืองหลวงใหม่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว

นอกจากเรื่องภาษาแล้ว ข้อวิพากษ์อื่นๆ ยังมีเรื่องการที่พิจารณาผ่านมติในเรื่องนี้เร็วมาก มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษของสภาผู้แทนฯ ในเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับเมืองหลวงใหม่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 แล้วก็มีการตัดสินใจ 6 สัปดาห์หลังจากนั้นคือในวันที่ 19 ม.ค. นักวิจารณ์มองว่ากระบวนการที่เร่งรัดเช่นนี้ไม่มีการปรึกษาหารือกับประชาชนทั่วไปมากพอ

Hamid Noor Yasin สมาชิกพรรค PKS กล่าวว่ากลุ่มพรรค PKS ของพวกเขารู้สึกเหมือน “ถูกไล่ล่า” โดยที่พรรค PKS เป็นหนึ่งในเก้าฝักฝ่ายทางการเมืองที่ปฏิเสธกฎหมายข้อกำหนดย้ายเมืองหลวงนี้ Yasin กล่าวอีกว่าเนื้อหาและความชอบด้วยกฎหมายของข้อกำหนดนี้ยังคงมีส่วนที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ผู้คนจำนวนมากยังกังวลเรื่องการใช้งบประมาณรัฐในการย้ายเมืองหลวง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19  ในตอนที่วิโดโดประกาศจะย้ายเมืองหลวงในปี 2562 รัฐบาลบอกว่าในวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ทั้งหมดคือ 466 ล้านล้านรูเปีย (ราว 1 ล้านล้านบาท) จะมีการใช้งบประมาณรัฐเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น นอกจากนั้นทางรัฐบาลหวังว่าจะดึงดูดการลงทุนจากภาคส่วนเอกชนได้มากพอที่จะใช้จ่ายให้กับส่วนที่เหลือ โดยรวมถึงผ่านทางหุ้นส่วนระหว่างรัฐ-เอกชน ด้วย

ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 โครงการย้ายเมืองหลวงนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอย่างเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ มาซาโยชิ ซน ประธานและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทซอฟต์แบงค์กรุ๊ป

แต่ในเว็บไซต์ของเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซียกลับให้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป โดยระบุว่าจะมีการใช้งบประมาณรัฐในการย้ายเมืองหลวงใหม่ครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยที่ข้อมูลนี้มีการถอดออกจากเว็บไซต์หลังจากที่กลายเป็นประเด็นโต้แย้ง

ทางฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียเคยเปิดเผยว่ารัฐบาลจะอาศัยโมเดลทางธุรกิจและการเงินที่จะไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดินและจะหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ระยะยาว ทั้งนี้ยังระบุอีกว่าแผนการย้ายเมืองหลวงเป็นแผนการในระยะยาวที่จะดำเนินเป็นขั้นตอน 5 ขั้นเสร็จสิ้นในปี 2588 และจะเน้นเป้าหมายระยะสั้นไปก่อนอย่างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ในตอนนี้รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังสร้างเขื่อน ระบบชลประทาน และถนน ใกล้กับสถานที่ๆ วางไว้ให้เป็น “พื้นที่ใจกลางของรัฐบาล” ซึ่งกินพื้นที่ประมาณ 41,250 ไร่ นับเป็นร้อยละ 2.5 ของพื้นที่ที่วางแผนไว้สำหรับนูซันตารา 1.6 ล้านไร่ รัฐบาลบอกอีกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาดที่จะ “กระตุ้นให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาถัดจากนี้”

แต่การพัฒนาที่ว่านี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกลุ่มชนพื้นเมืองในพื้นที่บางส่วนของกาลิมันตันตะวันออก นอกจากนี้ยังมีกรณีการจับกุมผู้สำเร็จราชการในท้องถิ่นข้อหารับสินบนทำให้มีข้อกังขาว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เหล่านี้จะมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันจนทำให้โครงการราคาแพงต้องถูกทิ้งร้างแบบในอดีตหรือไม่

ยูราเซียกรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาระบุไว้เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ว่า โจโควีทำให้สถาบันการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอลงและละเลยหลักการด้านการปฏิรูประบบราชการทั้งๆ ที่ระบบเหล่านี้จะทำให้การย้ายเมืองหลวงเป็นไปอย่างมีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ในสภาพปัจจุบันมีความเสี่ยงที่การย้ายเมืองหลวงจะทำให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ การตั้งราคาเกินจริง ผลสะท้อนเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวต่อรัฐบาล การฟ้องร้องทางกฎหมาย และความล่าช้าของโครงการ