วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ยอมรับว่าสถานการณ์พลังงานปีนี้ 2565 ต้นทุนพลังงานปรับขึ้นทุกชนิด ประกอบกับปัจจัยภายนอกความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนกดดันให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตึงตัวมากขึ้น
โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) ขณะนี้มีการปรับราคาขึ้นไปสูงสุดในรอบหลายปี อีกทั้งเป็นผลมาจากไตรมาส 4 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติปริมาณสูงสุดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูหนาว ซึ่งผู้ใช้ก๊าซก็จะทำการซื้อเก็บสต๊อก มีการปั่นราคา LNG ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ราคา LNG สูงขึ้นไปเป็นประวัติการณ์ 3-4 เท่าจากราคาตามปกติ
นอกจากนี้ยังเป็นช่วงรอยต่อแหล่งก๊าซอ่าวไทยที่มีการเปลี่ยนสัมปทาน และภาวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการนำเข้าสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า LNG (LNG shipper) ชะลอการนำเข้าก๊าซ LNG ในช่วงที่มีราคาสูงขึ้น แม้จะได้อนุญาต Shipper หลายราย ก็ยังไม่สามารถนำเข้ามาได้ทั้งหมด
ส่งผลให้มีการประเมินทิศทางราคาค่าไฟปีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องปรับขึ้นซึ่งประเมินว่าค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) จะมีการปรับขึ้นเป็นแบบขั้นบันได ตามหลักการ ซึ่งจะเบื้องต้นคาดการณ์ไว้ว่าปีนี้ อัตราค่าเอฟทีจะปรับขึ้นที่ 16 สตางค์ต่องวดเอฟที ระยะ 3 งวดทั้งปี ที่เหลืออีก 2 งวด คือ งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. และงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.ในปีนี้ ทั้งนี้ ยังต้องมีการหารือและผ่านการพิจารณาจากมติคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีนาคมจะมีการหารืองวดถัดไป
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ได้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเพียงประเภทเดียว ยังมีเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ อีกที่สามารถทดแทนได้ เพื่อนำมาเฉลี่ยให้สมดุลกัน มีทั้งอยู่ระหว่างแผนซื้อโรงไฟฟ้าเก่าที่มีอยู่แล้ว อาจจะขอซื้อเลยทันที อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล (น้ำตาล) หรือใช้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ นโยบายพลังงานทดแทนเพิ่มเข้ามา อีกส่วนหนึ่งคือการดึงเอาก๊าซฯ จากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ของผู้ได้รับสัมปทาน อีกทั้ง ราคาเชื้อเพลิงดังกล่าวก็จะอิงกับราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน เมื่อน้ำมันมีราคาสูง ราคาก๊าซก็สูงขึ้นด้วย
ปัจจุบันส่วนของสัมปทานแหล่งก๊าซฯเอราวัณเดิมที่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้เฉลี่ย 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่มีปริมาณลดลง โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทานรายใหม่จะต้องใช้เวลาในการเพิ่มกำลังผลิตจากสัญญา แต่ในช่วงรอยต่อของการเข้าไปบริหารกิจการเดือนเมษายน 2565 จะเหลืออยู่ที่ราว 420-425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กำหนดไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
โดยทางด้าน ปตท.สผ.มีการคาดการณ์ว่าจะใช้เวลา 2 ปี เพื่อทำให้แหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา PSC ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มมากขึ้น และอาจกระทบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ที่เบื้องต้นที่คาดการณ์ว่าเมื่อราคาเชื้อเพลิงถูกลงก็จะต้องปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ตามไปด้วยดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีการตั้งกองทุนที่มีลักษณะเช่นเดียวกันบัญชี Take or Pay โดยมองในระยะยาวว่าราคาเชื้อเพลิงอาจจะผันผวน มีความไม่แน่นอน มาช่วยอุดหนุนและใช้ในระยะยาว เพื่อพยุงราคาให้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง ช่วยค่าครองชีพประชาชน
“ปีนี้ค่าเชื้อเพลิงสูง ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากตามภาวะราคาน้ำมันดิบตลาดโลก อีกทั้งความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนกดดันให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตึงตัวมากขึ้น และเมื่อราคาน้ำมันขึ้นก็ไปลิ้งค์กับราคาแก๊สเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เห็นราคา LNG spot เพิ่มขึ้น เป็นช่วงขาขึ้น บวกกับช่วงก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงช่วงปลายสัมปทาน ก็มีผลต่อราคาค่าไฟ ที่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได
เบื้องต้นคาดการณ์ไว้ว่าปีนี้ อัตราค่าเอฟทีจะขึ้น 16 สตางค์ต่องวดเอฟที อาจจะหมายความว่าประชาชนอาจจะต้องรับภาระค่าไฟทั้งปี ซึ่งช่วงเดือน มี.ค. 2565 กกพ.จะออกประกาศงวดใหม่อีกครั้ง เราจะพยายามทำให้ค่าไฟมีเสถียรภาพมากที่สุด” นายคมกฤชกล่าว
อย่างไรก็ดี ในวันพรุ่งนี้ (7 กุมภาพันธ์) จะมีการแถลงข่าว ชี้แจงสถานการณ์พลังงานโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานที่ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี กระทรวงพลังงาน