ข่าวประจำวัน » #แบงก์ชาติลุย..!!  หวังพลิกโฉมระบบใหม่ “สกุลเงินดิจิทัล” 

#แบงก์ชาติลุย..!!  หวังพลิกโฉมระบบใหม่ “สกุลเงินดิจิทัล” 

3 July 2017
393   0


(Jul 1) แบงก์ชาติลุยเงินดิจิทัล หวังพลิกโฉมระบบใหม่ : แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีประเทศใดที่ออก”สกุลเงินดิจิทัล” (Cryptocurrency) ของตนเองมาใช้อย่างเป็นทางการ และการยอมรับเงินดิจิทัลชื่อดังอย่าง บิตคอยน์ ก็ยังอยู่ในแวดวงที่จำกัดมาก ทว่า การทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไปสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้งานจริง
ล่าสุดนั้น มีรายงานว่าธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) กำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลตัวต้นแบบขึ้นอย่างลับๆ และจะทดลองใช้ระบบทำธุรกรรมสกุลเงินดิจิทัล ดังกล่าวกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งในประเทศ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจลองใช้สกุลเงินดังกล่าวควบคู่ไปกับสกุลเงินหยวนในอนาคต แม้ว่าในเบื้องต้นจะมีรายงานขัดแย้งกันว่าจีนปฏิเสธเรื่องดังกล่าวอยู่ก็ตาม
เว็บไซต์ข่าวเอ็มไอที เทคโนโลยี รีวิว ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซา ชูเซตส์ (เอ็มไอที) ระบุว่า สกุลเงินดิจิทัลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลาง และสามารถนำไปใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินในจีน ส่งผลให้สามารถขยายบริการทางการเงินได้ครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น ขณะที่ชาวจีนจำนวนมากไม่อาจเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมจากธนาคารได้
ขณะเดียวกัน สกุลเงินดิจิทัลคาดว่าจะช่วยให้รัฐบาลจีนเข้าไปควบคุมการทำธุรกรรมออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เช่น การปรับให้สามารถติดตามการทำธุรกรรมออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการฉ้อโกง ฟอกเงิน หรือการคอร์รัปชั่น ที่รัฐบาลพยายามปราบปรามอยู่ในขณะนี้
รายงานระบุว่า ปัจจุบัน ชาวจีนหันไปใช้ระบบการชำระเงินออนไลน์สำหรับสินค้าและบริการเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องดื่ม โดยจ่ายเงินผ่านการสแกนคิวอาร์ โค้ด บนสมาร์ทโฟน ไปจนถึงการให้เงินอั่งเปาช่วงเทศกาลตรุษจีนผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล พฤติกรรมดังกล่าวของประชาชนทำให้รัฐบาลต้องเร่งเข้าไปหาทางดูแล
“ยิ่งได้รู้แนวทางการปล่อยกู้ของแบงก์ รวมถึงที่มาและปลายทางของเงินมากเท่าไร รัฐบาลก็ยิ่งมีหนทางควบคุมการฟอกเงินและปรับให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ต้วน ซินซิง รองประธานบริษัท โอเค คอยน์ หนึ่งในผู้ให้บริการซื้อขาย บิตคอยน์รายใหญ่ที่สุดของจีน กล่าว พร้อมเสริมว่า การออกสกุลเงินดิจิทัลจะทำให้พีบีโอซีเฝ้าระวังความเสี่ยงทางการเงินได้ง่ายขึ้น
โลกกรุยทางสู่ยุคดิจิทัล
จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่พยายามหันไปสู่ระบบการเงินแบบดิจิทัล โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ยกเลิกการใช้ธนบัตรสำหรับชำระหนี้ตามกฎหมายถึง 86% ของจำนวนทั้งหมดเพื่อกวาด ล้างการคอร์รัปชั่นและผลักดันประเทศสู่การชำระเงินบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ให้มากขึ้น
บลูมเบิร์กระบุว่า การผลิตเงินกระดาษและต่อสู้กับบรรดาผู้ผลิตเงินปลอมนั้นมีต้นทุนสูงมากสำหรับอินเดีย โดยเฉพาะต้นทุนการกำกับดูแลการทำธุรกรรมเงินกระดาษ ขณะที่การเพิ่มสกุลเงินดิจิทัลเข้าไปในระบบการเงินนั้น สามารถย่นระยะเวลา เพิ่มความสะดวก และสร้างความโปร่งใสให้การทำธุรกรรมการเงินได้
นอกจากนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางแคนาดา เยอรมนี และสิงคโปร์ กำลังเร่งศึกษาเรื่องสกุลเงินดิจิทัลเช่นเดียวกับจีน ขณะที่มีรายงานว่า ธนาคารกลางเวียดนามกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการเอาบิตคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลที่มีการซื้อขายอย่างแพร่หลายมากที่สุดในขณะนี้มาใช้งานจริง
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2016 ประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างเดนมาร์กและสวีเดน เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล โดยธนาคารกลางเดนมาร์กระบุว่า กำลังหาทางผลิตเงิน อี-โครน (E-krone) เพื่อเอามาใช้แทนเงินกระดาษ ในการช่วยควบคุมและป้องกันอาชญากรรมทางเงินไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น และกำลังพิจารณาว่าจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเป็นแบบต้องระบุตัวตนผู้ใช้ได้หรือไม่ เช่น การใส่เลขซีเรียล นัมเบอร์ เพื่อให้สามารถจับตาการทำธุกรรมการเงินได้ตลอดเวลา
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ธนาคารกลางสวีเดนเปิดเผยว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาออกสกุลเงินดิจิทัล หลังการใช้เงินสดในประเทศปรับตัวลงถึง 40% นับตั้งแต่ปี 2009 แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาใช้ควบคุมการทำธุรกรรมดิจิทัล
ความเสี่ยงยังสูง
ฝ่ายสนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลมักยกข้อดีด้านหนึ่งขึ้นมาเสมอ คือ สกุลเงินเสมือนจริงจะช่วยลดการผูกขาดของภาคธนาคาร ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางและหักค่าหัวคิวในระบบอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม การบั่นทอนบทบาทของแบงก์พาณิชย์ก็ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันด้วย โดยเฉพาะในแง่ของการติดตามเส้นทางการเงิน
เพราะแม้ว่าการออกสกุลเงินดิจิทัลจะช่วยให้บรรดาธนาคารกลางควบคุมดูแลความเสี่ยงทางการเงินออนไลน์ได้ดีขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ กำลังกลายเป็นช่องทางระดมเงินของอาชญากรไซเบอร์ เช่น กรณีแฮ็กเกอร์ปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ วอนนาคราย เมื่อเดือน พ.ค. และ เพตยา ช่วงสัปดาห์นี้ ข่มขู่ให้ผู้ใช้จ่ายค่าปลดล็อกคอมพิวเตอร์ผ่านบิตคอยน์ เนื่องจากระบบบล็อกเชนที่ใช้ซื้อขาย บิตคอยน์นั้น ไม่มีตัวกลางการทำธุรกรรม ทำให้แฮ็กเกอร์สามารถหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐบาลได้
อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า จีนได้หาทางออกแบบระบบสกุลเงินดิจิทัลเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าวไว้เช่นกัน โดย เหยาเฉียน รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีของพีบีโอซี ระบุในเอกสารตีพิมพ์ในวารสารวิชาการซิงหวา ไฟแนนเชียล รีวิว ว่า จีนจะผสมผสานสกุลเงินดิจิทัลเข้ากับระบบของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อคงบทบาทให้ธนาคารพาณิชย์กลายเป็นตัวกลางให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล
ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
Source: Posttoday

#Wanwilai วันวิไล รักการดี สำนักข่าว Vihoknews