วันที่ 9 ก.พ. 65 เวลา 09.30 น. ที่ห้องปฏิบัติการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงานศูนย์บัญชาการฯ โดยมี นายนาวิน สิทธุสะอาด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมพร้อมด้วย ปภ.เชียงใหม่ ทสจ.เชียงใหม่ ทหาร เกษตรและสหกร์จังหวัดเชียงใหม่ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบซูม ได้ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอำเภอพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามสถานการณ์การเกิดจุดความร้อน (Hot Spot) ซึ่งเน้นการติดตามในอำเภอที่มีจุด Hot Spot สูงใน 3 อันดับแรกของจังหวัด
ในส่วนของฝ่ายวิชาการสนับสนุนคณะทำงานศูนย์บัญชาการฯ ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะทำงานด้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายงานในที่ประชุมฯ ว่า สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันที่ผ่านมาปัจจัยในเรื่องลานีญามักส่งผลกระทบกับประเทศไทย ทำให้มีฝนตกมากกว่าปกติ ส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นควัน ค่าPM2.5 รวมทั้งจุดความร้อนที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้นรุนแรงเท่ากับปีที่ผ่านมา
“จากการคาดการณ์ในระดับโลกเกี่ยวกับปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะหยุดในช่วงเดือนมีนาคมเชื่อว่าจะมีการขยับจากเดือนมีนาคมออกไปอีกเล็กน้อย โดยความหมายคาดว่าจะส่งผลดีต่อสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันของประเทศไทยและเชียงใหม่ได้ หากแต่ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแล้วฝนไม่ตกเพียงแค่ 1 สัปดาห์ เชื้ออเพลิงต่างๆ ก็มีความพร้อมที่จะถูกเผาไหม้จึงจำเป็นในทุกพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม โดยสถิติจะพบว่าช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ”
สำหรับระบบ Fire D แต่ละอำเภอ และแต่ละตำบลกรอกข้อมูลเข้ามาพบว่ามีคำร้องเข้ามาราว 1,520 คำร้อง คิดเป็นจำนวนไร่อยู่ที่ 130,000 ไร่ มีคำร้องที่อนุมัติไปแล้ว 3 หมื่นกว่าไร่ ที่เหลือรอการอนุมัติ อย่างไรก็ตามคำร้องที่ได้รับการอนุมัติในระบบยังไม่มีการรายงานผลการดำเนินการเข้ามาแต่อย่างใด จึงฝากไปยังศูนย์อำเภอทุกแห่งแจ้งไปยังตำบลพื้นที่หากได้ดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงแล้วให้รีบรายงานเข้าระบบ โดยขอให้แนบรูปผลการดำเนินการเข้ามาในระบบด้วย เพื่อเป็นที่ทราบของทั้งอำเภอและจังหวัด
“การบริหารจัดการเชื้อเพลิงสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ เรื่องการจัดทำแนวกันไฟก่อน แล้วให้ดำเนินการในช่วงเวลาที่ศูนย์บัญชาการฯ กำหนด โดยต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนที่การระบายอากาศจะแย่ลง คือ ต้องให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 17.00 น. ประเด็นตรงนี้หมายความว่า หลัง 17.00 น. ควันจากการบริหารจัดการเชื้อเพิลง ต้องไม่มีแล้ว”