10 ก.พ.2565 – เมื่อเวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ภายหลังที่ประชุมรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2565 เสร็จสิ้นแล้ว นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า การรับฟังรายงานจำเป็นต้องมีองค์ประชุมอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ขอตรวจสอบองค์ประชุม
จากนั้นได้นายชวน ได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม แต่นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติขอนับองค์ประชุมแบบขานชื่อ ทำให้นายพิเชษฐ์ ลุกขึ้นแจ้งว่าเมื่อมีญัตติซ้อนขึ้นมาก็น่าจะโหวตว่าเห็นด้วยกับการนับองค์แบบเสียบบัตรหรือขานรายชื่อ นายชวน วินิจฉัยว่ามีการเสนอให้นับองค์ประชุมซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกัน แต่วิธีการต่างกัน จึงจะขอมติที่ประชุมว่าจะเห็นควรให้นับองค์ประชุมด้วยวิธีใด
นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล หารือว่า การขอนับองค์ประชุมเวลาแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ และถือเป็นญัตติหรือไม่ เพราะเห็นว่า การนับองค์ประชุมไม่ได้เป็นญัตติ ดังนั้น ขอให้ประธานทบทวนคำหารือใหม่และใช้ดุลยพินิจพิจารณา ถ้าเป็นการขอนับองค์ประชุมเพื่อป่วนสภาฯ ตนคิดว่าเป็นการทำลายความมั่นคงของสภาฯผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา มาตรา 157
ทำให้นายพิเชษฐ์ ลุกขึ้นประท้วงให้ถอนคำพูด แต่นายนิโรธ ไม่ยอมพร้อมกับสวนกลับว่า ขอนับองค์ประชุมเอาแบบมีมารยาทหน่อยในสภาฯ อย่าจริยธรรมตกต่ำให้มากนัก
นายชวน ชี้แจงว่า เราปฏิบัติมาอย่างนี้จะไปเอาว่าเหมาะสมหรือไม่ ไม่ได้ ถือว่าเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะตรวจสอบองค์ประชุม เมื่อเสนอให้ตรวจสอบ ประธานมีหน้าที่ให้ตรวจสอบ และการตัดสินใจของประธานต้องยึดข้อบังคับ ไม่สามารถเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และขอร้องพวกเราว่ามีสิทธิที่จะกดบัตรแสดงตนหรือไม่แสดงตน แต่โดยหน้าที่ของเราประชาชนเลือกเราเข้ามาทำงาน ฉะนั้น เราต้องร่วมกันทำงาน สภาฯอีก 2-3 สัปดาห์เท่านั้นก็จะปิดสมัยประชุม หากมีทางใดที่เราจะร่วมกันทำงานในวันนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆมารอชี้แจงอยู่
นายพิเชษฐ์ ลุกขึ้นโดยใช้สิทธิถูกนายนิโรธพาดพิง พร้อมกล่าวว่า อยากให้ประธานวิปถอนคำพูดว่าการนับองค์ประชุมผิดรัฐธรรมนูญ ผิดอาญา นายนิโรธ เป็นประธานวิปฯไม่เข้าใจประเพณีของสภาฯหรือไม่ แต่นายชวน ชี้แจงว่า ไม่ต้องถอนคำพูดเพราะไม่ได้กล่าวหาใคร เป็นความเห็นของผู้นั้นโดยเฉพาะ ถูกผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการตรวจสอบองค์ประชุมก็เป็นสิทธิของสมาชิก เมื่อเสนอให้ตรวจสอบก็ต้องอนุญาต ส่วนเหมาะสมหรือไม่ ทุกคนโดยสามัญสำนึกรู้ว่าควรหรือไม่ควร แต่เมื่อเป็นสิทธิต้องยอมให้สิทธิ กระบวนการต้องว่าไปตามกฎเกณฑ์ของการประชุม
อย่างไรก็ตาม สมาชิกของฝั่งรัฐบาลได้พยายามขอร้องให้ผู้เสนอนับองค์ประชุมทั้งสองฝ่าย ถอนญัตติออกไปเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของสภาฯ โดยนายชวน กล่าวเสริมว่า บางครั้งการใช้สิทธิพร่ำเพรื่อของสมาชิกฯจะทำให้สภาฯเสียหาย
ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมาตำหนิคำพูดของนายชวน โดยระบุว่า บางครั้งประธานฯก็ใช้คำพูด ทำให้ฝ่ายค้านเสียหาย อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่พรรคแรกที่ขอนับองค์ประชุมลักษณะเช่นนี้ อดีตพวกตนก็เป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านก็ขอนับองค์ประชุม แต่พวกตนที่เป็นฝ่ายค้านก็ก้มหน้าทำงานและไม่มีพฤติกรรมรุนแรง เช่น ปาข้าวของ ลากเก้าอี้เหมือนฝ่ายค้านในอดีต วันนี้พวกเราไม่ประสงค์จะให้สภาฯล่ม แต่ที่ขอนับองค์ประชุมเพราะต้องการให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาทำงานให้ครบ
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ขอใช้สิทธิ์พาดพิง อภิปรายว่า ตนในฐานะที่เคยเป็นฝ่ายค้านมาก่อน เคยขอนับองค์ประชุมก็จริง แต่จะขอนับก็ต่อเมื่อเป็นวาระที่สำคัญ หรือพบว่าเสียงข้างมากไม่ฟังเสียงข้างน้อย เป็นเผด็จการรัฐสภา เสียงข้างมากลากไป ไม่ใช่ขอนับองค์ประชุมแบบพร่ำเพรื่อหรือจ้องแต่จะขอนับองค์ประชุมเพื่อให้สภาฯล่ม
จากนั้น นายชวน แจ้งว่า ขอแนะนำให้สมาชิกที่อยู่ในห้องกดบัตรเพื่อจะได้อยู่ห้องประชุม ถ้าเราใช้สิทธิอะไรพร่ำเพรื่อก็จะเสียหายต่อสภาฯ และขณะนี้มีสมาชิก 225 คนแล้ว ตนขอเวลาอีกนิดเดียว ถ้ายังไม่ครบก็ต้องปิดประชุม แต่ไม่อยากให้งานของเราล้มเหลว เพราะยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง งานใดที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต้องช่วยกัน
ที่สุด นายชวน ก็ได้แสดงผลองค์ประชุม ปรากฎมีเพียง 227 เสียง ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม 237 เสียง ทำให้นายชวน ต้องสั่งปิดการประชุมในเวลา 15.02 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาฯล่มครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 17 หรือ เป็นครั้งที่ 3 ในเดือนก.พ.