เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #”โลกระอุ” ! ‘สหรัฐฯ-EU’ สั่งคว่ำบาตรรัสเซีย หลังรับรองเอกราชรัฐกบฎ

#”โลกระอุ” ! ‘สหรัฐฯ-EU’ สั่งคว่ำบาตรรัสเซีย หลังรับรองเอกราชรัฐกบฎ

22 February 2022
431   0


.
ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ที่ล่าสุด ทางทำเนียบขาวได้ออกมาเปิดเผยคำสั่งคว่ำบาตรครั้งใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้กรณีที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ให้การรับรองกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในตะวันออกของยูเครน สร้างความหวาดหวั่นให้บรรดาประเทศในซีกโลกตะวันตก ที่เกรงว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณว่ากองทัพรัสเซียจะบุกยูเครนในเร็วๆ นี้
.
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียเช้าวันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ปรับตัวลดลงรุนแรง โดยดัชนี Nikkei 225 เปิดตลาดปรับตัวลดลงมากกว่า 2% ก่อนรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยมาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 26,524 จุด ลดลง 1.44% ส่วนดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ลดลง 1.43% มาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 2,704 จุด
.
ส่วนราคาน้ำมัน WTI เช้าวันนี้พุ่งขึ้นเกือบ 3.7% มาอยู่ที่บริเวณ 94.43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาทองคำในตลาดฟิวเจอร์สที่ปรับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณ 1,910 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในเช้าวันนี้
.
สำนักข่าว AP รายงานว่า ทันทีที่ผู้นำรัสเซียประกาศทางโทรทัศน์ในวันจันทร์ (21 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมาว่า ตนเองได้ตัดสินใจยอมรับสถานะของภูมิภาคโดเนตสก์และลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครนและประชาชนใช้ภาษารัสเซียในการสื่อสาร ว่าเป็นรัฐอิสระ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ลุกขึ้นมาประณามการกระทำดังกล่าวแทบจะในทันที โดยระบุชัดว่า การกระทำดังกล่าวของประธานาธิบดีปูตินเป็นการ ‘ละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศของรัสเซียอย่างโจ่งแจ้ง’
.
คำสั่งค่ำบาตรใหม่ในครั้งนี้จะมีผลห้ามค้าขายแลกเปลี่ยน ลงทุน หรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ กับ 2 แคว้นของยูเครนที่ทางรัสเซียให้การรับรอง และให้มีผลบังคับใช้ในทันที
.
ฟากสหภาพยุโรป (EU) พันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ ก็เปิดเผยว่าทาง EU เตรียมที่จะประกาศคว่ำบาตร 2 แคว้นดังกล่าวในยูเครนด้วยเช่นกัน พร้อมแสดงความกังวลว่าท่าทีล่าสุดของประธานาธิบดีปูติน ทำให้ความกังวลว่ารัสเซียจะบุกยูเครนในเร็ววันนี้เพิ่มมากขึ้น
.
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และ ชาร์ลส์ ไมเคิล ประธานสภา EU ระบุลงในแถลงการณ์ร่วมว่า การรับรองที่เกิดขึ้นละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง และ EU ต้องโต้ตอบด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตร ก่อนย้ำอย่างชัดเจนว่า ยุโรปและชาติพันธมิตรยังคงให้การสนับสนุน อธิปไตย และความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวของยูเครน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล
.
ก่อนหน้านี้ที่สหรัฐฯ กับ EU จะแสดงท่าทีแข็งกร้าวเพียงไม่นาน ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย รับคำร้องขอการประกาศอิสรภาพจากหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยผู้นำรัสเซียระบุชัดว่า ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์รัสเซีย และภูมิภาคตะวันออกของยูเครนคือผืนดินโบราณของรัสเซีย อีกทั้งยังมั่นใจว่าประชาชนชาวรัสเซียจะสนับสนุนการตัดสินใจของตนในครั้งนี้
.
ทางฝ่ายทำเนียบเครมลินเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีปูตินได้แจ้งผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้ โดยผู้นำรัสเซียตัดสินใจประกาศรับรองหลังจากที่ได้ร่วมหารือประเด็นดังกล่าวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซียเรียบร้อยแล้ว
.
สำหรับภูมิภาคโดเนตสก์ คือพื้นที่ที่กลายมาเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพรัฐบาลยูเครนกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ปี 2014 หรือหลังจากที่รัสเซียได้ผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน ซึ่งการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วราว 14,000 คน
.
รายงานระบุว่า ทางกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต้องการให้รัสเซียลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและให้ความช่วยเหลือด้านการทหารเพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานทางทหารของยูเครนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
.
ด้านนักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่า การที่รัสเซียประกาศยอมรับภูมิภาคตะวันออกของยูเครนว่าเป็นรัฐอิสระในครั้งนี้ อาจทำให้ความพยายามที่จะจัดการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีปูตินกับประธานาธิบดีไบเดนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุกรานยูเครนล้มเหลวโดยที่ยังไม่ทันเริ่มพูดคุยกันเลย
.
ขณะที่ ร็อบ ลี (Rob Lee) นักวิเคราะห์ระดับอาวุโสจากสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ (FPRI) ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากมุมมองของรัสเซีย การบุกโจมตียูเครนในตอนนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการนิ่งเฉย เนื่องจากหากรัสเซียเลือกถอยตอนนี้ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) จะมองว่าการส่งออกอาวุธไปยังยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ และต้องเสริมการป้องกันและปราบปรามกลุ่มกบฏให้มากขึ้น
.
ลีกล่าวว่า เหตุผลข้างต้นทำให้รัสเซียอาจต้องเลือกบุกยูเครน เพราะการนิ่งเฉยนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าการตัดสินใจบุกตั้งแต่ตอนนี้ บวกกับการที่ยูเครนกำลังเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามรัสเซีย
.
รายงานอ้างอิงคำกล่าวของลีที่ระบุชัดว่า เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียอาจมองว่าการดำเนินการในตอนนี้มีต้นทุนน้อยกว่าการรอจังหวะในอนาคตคือ ถ้ายูเครนพัฒนาระบบขีปนาวุธพิสัยไกลได้เป็นผลสำเร็จ นั่นหมายความว่า หากรัสเซียรอบุกโจมตีในอนาคต อาจทำให้ยูเครนเลือกโต้กลับด้วยการโจมตีเมืองต่างๆ ของรัสเซีย ลามไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารที่สำคัญ
.
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากมุมมองดังกล่าว รัสเซียย่อมไม่เหลือทางเลือกมากนัก และเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของรัสเซียเพื่อตัดสินใจให้การรับรองในขณะนี้
.
ขณะเดียวกัน ในส่วนของประเด็นที่หลายฝ่ายกังขาว่า รัสเซียจะเปิดฉากโจมตียูเครนเร็วแค่ไหน ลีมองว่า “อาจเกิดขึ้นคืนนี้หรือในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” เนื่องจากตอนนี้รัสเซียได้เคลื่อนกองทหารและยุทโธปกรณ์เข้าใกล้ยูเครนมากขึ้น และมีการกระจายกำลังทหารเป็นหน่วยย่อยเรียบร้อยแล้ว
.