“ชัยวุฒิ” ย้ำเศรษฐกิจดิจิทัลมาแน่ภายใน 5 ปี หลังคนไทยคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น แถมโครงสร้างพื้นฐานอลังการรัฐบาลซัปพอร์ตเต็มที่ พร้อมตั้งเป้าสร้างซิลิคอนวัลเล่ย์ในไทยบนพื้นที่ EEC กว่า 600 ไร่ ขณะเดียวกัน จับมือเจ้าหน้าที่ตำรวจลุยกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์ หวังสร้างความเชื่อมั่นบนแพลตฟอร์มออนไลน์
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวภายในงานสัมมนา 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ว่า เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลต้องมีจีดีพีให้ถึง 30% ของจีดีพีรวมให้ได้ภายในปี 2570 ซึ่งเราสามารถทำได้เนื่องจากมีการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการเติบโตได้ในอนาคต มีการสร้างสภาพแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัปในประเทศไทย ที่ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็ง มีการส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สมาร์ทซิตีมาใช้อย่างแพร่หลายในทุกเมืองและภูมิภาค และที่สำคัญต้องมีการใช้ดิจิทัลอย่างชาญฉลาดและปลอดภัย รวมถึงการป้องการอาชญากรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้อนาคต
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องมีการสร้างระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศที่เข้มแข็ง วันนี้ประชากรไทยอยู่ในสังคมเมืองกว่า 50% และมีการใช้มือถือสมาร์ทโฟนติดต่อสื่อสารกันมากถึง 90 ล้านเครื่อง มีการใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 70% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และที่สำคัญมีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายกว่า 55 ล้านคน มีการเปิดบัญชีสังคมออนไลน์และติดต่อสื่อสารกันสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกจากข้อได้เปรียบของโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่รัฐบาลได้วางไว้ ทำให้ปัจจุบันคนไทย 80% ใช้โซเชียลมีเดียไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลกเนื่องจากการโอนเงินในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเกมนาน 1 ชั่วโมง 32 นาที นานเป็นอันดับ 2 ของโลก และการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซและมือถือมากเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยเช่นกัน มีการใช้การค้นหาและสั่งการด้วยเสียงเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีการใช้บริการผ่านระบบเดลิเวอรีและออนไลน์ถือเป็นอันดับ 10 ของโลก ที่สำคัญมีการวิจัยว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน 8 ชั่วโมง 44 นาที เป็นอันดับ 9 ของโลก คนไทยจึงมีความคุ้นเคยกับการใช้งานและสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลแพร่หลายมาก ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่ดีวัดความเร็วเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตบ้านเราได้สูงถึง 308Mbps นับเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีเร็วเฉลี่ยบนมือถือถึง 51.75Mbps แรงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก
นอกจากประสิทธิภาพของระบบอินเทอร์เน็ตรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้สร้างความเจริญด้านเทคโลยีไปในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ทุกภูมิภาค ผ่านโครงการที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตประชารัฐ ที่มีการเดินสายดิจิทัลบอร์ดแบรนด์ไปทุกหมู่บ้านด้วยการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งการที่เอกชนไม่ลงทุนเนื่องจากการวางโครงข่ายไม่คุ้มค่ากับปริมาณการใช้ในพื้นที่ แต่ภาครัฐมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตราคาถูกให้ได้
“เราต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็นดิจิทัลฮับ มีการวางสายเคเบิลใต้น้ำเพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยกับทั่วโลกโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมีความพร้อมการเชื่อมข้อมูลกับภูมิภาคนี้และทั่วโลกหลังจากดำเนินการมาหลายปี”
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญอีกเรื่องคือเทคโนโลยี 5G ทำให้การส่งข้อมูลและการติดต่อสื่อสารเร็วขึ้น และทำให้มีผู้ใช้บริการได้ในจำนวนที่มากขึ้น และจะมีเทคโนโลยีอื่นๆ ตามมาอีก เช่น AI ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ง่ายขึ้น นอกจาการวางรากฐาน 5G แล้ว ยังมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ และได้มีการดำเนินการไปแล้วในหลายเรื่องด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น การรักษาพยาบาลผ่านระบบเทคโนโลยี การใช้ในเรื่องการเกษตรในการทำสมาร์ทฟาร์ม รวมถึงการนำไปใช้เพื่อให้ระบบ 5G คุ้นเคยกับผู้ประกอบการและสามารถสร้างรายได้ หรือทำให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และที่สำคัญอีกด้านคือเรื่องของข้อมูล หรือ ดาต้า รัฐบาลได้สร้างระบบคลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมด ที่ขณะนี้ได้ทำไปแล้ว และจะขยายการให้บริการให้หน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลมาเก็บในคลาวน์เพื่อจะให้นำไปใช้ในการวิเคราะห์วางแผนศึกษาเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนมากขึ้น และที่สำคัญเมื่อมีการรวมศูนย์ข้อมูลแล้วเราจะมีการพัฒนาเป็นรัฐบาลดิจิทั้งในอนาคตที่จะนำข้อมูลให้พี่น้องประชาชนไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ด้วย
อีกส่วนสำคัญคือการสร้างให้พี่น้องประชาชนเข้ามาลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยรัฐบาลมีแผนที่จะจัดสร้างดิจิทัลวัลเล่ย์ในพื้นที่ EEC จำนวน 600 ไร่ เพื่อสร้างอาคาร ระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัปทางด้านดิจิทัลมาใช้ลงทุน และทำธุรกิจใหม่ๆ ในด้านดิจิทัล ร่วมถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาด้วยการส่งเสริมสิทธิประโยชน์การลงทุนเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ด้านดิจิทัลในไทยบนพื้นที่ EEC
จากที่ได้เราคือการส่งเสริมและนโยบายของรัฐบาลที่ทำมาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ เมื่อคนไทยมีความคุ้นเคยในการใช้อินเทอร์เน็ตกันมากในหลายด้านก็มีกลุ่มมิจฉาชีพเกิดขึ้นตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้มีคดีที่พี่น้องประชาชนร้องทุกกล่าวโทษกว่า 7,951 เรื่อง ความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาแจ้งความดำเนินคดีเท่านั้น แต่น่าจะมีมากกว่านี้อีกเยอะแต่ไม่ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ
ส่วนภาพรวมคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ได้มีการดำเนินคดีไปแล้ว 4,957 คดี โดยเฉพาะล่าสุดสำหรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐขมขู่อ้างว่ามีความผิดและต้องโอนเงินเป็นจำนวนมาก ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลได้ดำเนินการปราบปราม และสามารจับกุมผู้ต้องหาได้หลายราย แต่นอกจากการปราบปรามแล้วเรายังต้องจัดตั้งศูนย์รับเรี่องร้องเรียนประสานงานแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหา และกระทรวงดิจิทัลได้จัดตั้ง 1112 ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ซี่งพี่น้องประชาชนสามารถร้องเรียนหากพบเห็นและแจ้งเบาะแสได้ เนื่องจากความเสียหายปีหนึ่งหลายพันล้านบาท และผมจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชนในการธุรกรรมออนไลน์ให้ได้
ปัจจุบัน ศาลยุติธรรมได้จัดตั้งศาลแพ่งแผนกคดีออนไลน์ขึ้นมาเพื่อบริการพี่น้องประชาชน เพราะวันนี้คดีค้าขายออนไลน์มีจำนวนมากทั้งในส่วนที่ไม่ได้รับสินค้า และสินค้าไม่มีคุณภาพ การฟ้องจะเป็นการฟ้องออนไลน์ทำให้กระบวนการรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนมากขึ้น โดยเป้าหมายต่อไปจะเป็นการฟ้องทางอาญาเพราะการหลอกลวงออนไลน์เป็นคดีทางอาญาด้วย และเราต้องผลักดันให้มีการดำเนินคดีในส่วนนี้ให้ได้ด้วยจะได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้เต็มที่ต่อไป
สุดท้ายสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศนอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ทำมาต่อเนื่อง สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ระบบ เพราะถ้าประชาชนขาดความเชื่อมั่น ถูกหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะไปไม่ได้ เราต้องสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็ง ให้ปลอดภัยสำหรับพี่น้องประชาชน และสิ่งแรกที่ผมจะทำคือการออกฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ดียิ่งขึ้น และอาจมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ เพิ่มอำนาจให้ตำรวจในการดำเนินคดี และต้องช่วยกันเตือนพ่อแม่พี่น้องให้รู้เท่าทัน ให้มีภูมิต้านทานภัยที่มาจากโลกออนไลน์ทั้งหมด เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องปลอดภัยจากภัยออนไลน์