23 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เข้าแจ้งข้อกล่าวหาคดีดูหมิ่นศาล ต่อ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากกรณีโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อความในช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 หลังจากมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ พริษฐ์เคยได้รับหมายเรียกลงวันที่ 23 มิ.ย. 2564 จาก สน.ทุ่งสองห้อง โดยหมายระบุว่าคดีมี นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจให้ ส.ต.ท.มนตรี แดงศรี มาเป็นผู้กล่าวหา แต่ในช่วงดังกล่าวพริษฐ์เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ และยังถูกคุมขังซ้ำอีกครั้งในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 ทำให้เขายังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา
ระหว่างถูกคุมขัง พนักงานสอบสวนไม่เคยเดินทางเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ จนกระทั่งวันนี้ ที่มีการยื่นขอประกันตัวพริษฐ์ในคดีที่มีหมายขังอยู่ จึงได้รับทราบว่าตำรวจมีการขอออกหมายจับจากศาลอาญาในคดีนี้แล้ว โดยเป็นหมายจับที่ออกเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565
ต่อมา พ.ต.ท.วราวุธ หนูชู สารวัตรสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง จึงได้ประสานงานกับทนายความ เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและจัดทำบันทึกจับกุมพริษฐ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
เวลา 16.00 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพริษฐ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 “ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือการกระทำการขัดขวางพิจารณาหรือพิพากษาของศาล”
พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณ 9.00 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบเฟซบุ๊ก “เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” ได้โพสต์ข้อความโดยการเปิดโพสต์สาธารณะ มีถ้อยคำ 2 ข้อความ ที่มีเจตนาเปรียบเทียบและดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พิจารณาคดี กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 ในวันพุธที่ 2 ธ.ค. 2563 ว่าเป็นสุนัขซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือในองค์กร หรือสถาบัน
ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวทั้ง 2 ข้อความ โพสต์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้วก็ตาม ในวันดังกล่าว “กลุ่มราษฎร” ยังมีการจัดการชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่วิจารณ์การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ
.
พริษฐ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ประสงค์จะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมและบันทึกการแจ้งข้อหา และจะให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่พริษฐ์เริ่มทำกิจกรรมทางการเมือง เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปรวมแล้ว 54 คดี (มีจำนวน 11 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับ) โดยแยกเป็นคดีหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา จำนวน 43 คดี และเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 23 คดี ซึ่งนับได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเท่าที่ทราบข้อมูล