สื่อบีบีซีของอังกฤษระบุวานนี้ (4 มี.ค.) ว่าจะหยุดการรายงานข่าวจากในรัสเซีย ซึ่งต่อมาไม่นานก็มีสื่อชั้นนำอีกหลายเจ้าออกมาประกาศมาตรการเดียวกัน เช่น แคเนเดียน บรอดคาสติง คอมพะนี บลูมเบิร์ก ซีเอ็นเอ็น และซีบีเอส นิวส์ เป็นต้น ขณะที่บางบริษัทงดใส่ชื่อผู้เขียนลงในบรรทัดแรกหรือบรรทัดสุดท้ายของข่าว (byline) ระหว่างที่รอประเมินสถานการณ์
ในขณะที่การรุกรานยูเครนทำให้รัสเซียถูกรุมประณามและคว่ำบาตรจากทั่วโลก มอสโกพยายามที่จะ “เอาคืน” ด้วยการทำสงครามข้อมูล โดยล่าสุด Roskomnadzor ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับสื่อสารของรัสเซียได้มีคำสั่งบล็อก “เฟซบุ๊ก” โดยอ้างถึง 26 กรณีที่เข้าข่ายเลือกปฏิบัติและกีดกันสื่อของรัสเซีย ขณะที่สำนักข่าว TASS รายงานว่า “ทวิตเตอร์” ก็ถูกจำกัดการเข้าถึงในรัสเซียด้วย
เจ้าหน้าที่รัสเซียอ้างว่า บรรดาชาติศัตรู เช่น สหรัฐฯ และพันธมิตรของอเมริกาในยุโรปมีการเผยแพร่ข่าวปลอมมากมาย โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวรัสเซีย
รัฐสภารัสเซียได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อเพิ่มโทษปรับและจำคุกสำหรับบุคคลหรือองค์กรที่เผยแพร่ข่าวปลอม นอกจากนี้ ยังกำหนดโทษปรับสำหรับใครก็ตามที่ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติ “แซงก์ชัน” รัสเซียจากการบุกยูเครน
ผู้บริหารสื่อหลายสำนักชี้ว่า กฎหมายใหม่นี้ลิดรอนเสรีภาพในการรายงานข่าว และทำให้สื่อมวลชนตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งทางบริษัทจำเป็นที่จะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการทำหน้าที่สื่อ และการปกป้องสวัสดิภาพของตัวนักข่าวเอง
คำสั่งรุกรานยูเครนของ ปูติน ได้จุดชนวนวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกในยุคหลังสงครามเย็น และยังส่งผลกระทบแผ่ลามไปถึงภาคการเงิน ราคาสินค้า และทำให้ค่าเงินรูเบิลรัสเซียร่วงดิ่งเหว ขณะที่รัสเซียเองต้องเผชิญการโดดเดี่ยวจากนานาชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
รัฐบาลตะวันตกและบริษัทไอทีชั้นนำของโลกพร้อมใจกันแบนสำนักข่าว RT ของรัสเซีย โดยสหภาพยุโรป (อียู) ชี้ว่าสื่อเจ้านี้มีการแพร่ข้อมูลบิดเบือนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับปฏิบัติการรุกรานยูเครน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียอ้างว่า สื่อตะวันตกมักเสนอข่าว “ลำเอียง” และเผยแพร่แนวคิดต่อต้านรัสเซีย แต่กลับไม่เคยเรียกร้องให้ผู้นำตัวเองต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน หรือการทำลายล้างที่เกิดขึ้นในสงครามอื่นๆ เช่น สงครามอิรัก เป็นต้น
ที่มา : รอยเตอร์