เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ระวังเข้าทาง”แม้ว” ! เทพไท เตือนพรรคร่วมแก้กฎหมายลูกระวังให้ดี

#ระวังเข้าทาง”แม้ว” ! เทพไท เตือนพรรคร่วมแก้กฎหมายลูกระวังให้ดี

8 March 2022
356   0

   วันที่ 8 มี.ค.65 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว ข้อความว่า ตอนนี้มีการจับตาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. …อย่างใกล้ชิด โดยมีสาระสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือการเลือกตั้งใช้เบอร์เดียวกัน ทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขต หรือจะแยกบัตรคนละเบอร์ กับวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.ว่าจะคิดอย่างไร ซึ่งสามารถคิดคำนวณได้ใน 2 แบบ คือ

1.Additional Member (AM) หรือ Mixed Member Majoritarian (MMM) หรือระบบคู่ขนาน เป็นระบบที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. แบบเขต 1 ใบ และเลือกพรรคหรือเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 ใบ เหมือนระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งระบบแบบคู่ขนานนี้จะมีการคิดคำนวนคะแนนแบบแยกขาดจากกันระหว่าง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมทั้งไม่มีการคำนวนคะแนน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรคการเมือง ทำให้เมื่อคำนวนคะแนนออกมาแล้ว จำนวน ส.ส.สุทธิ ของบางพรรคการเมืองนั้นได้ไปมากกว่า สัดส่วนคะแนนนิยมของพรรคที่เป็นจริง และบางพรรคการเมืองได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

2. Mixed Member Proportional (MMP) หรือที่รู้จักกันในชื่อระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน มีชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาไทยคือ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ในระบบแบบนี้มีการใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยแยกเป็นบัตรเลือก ส.ส. เขต และเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ซึ่งคะแนนของบัตรเลือกพรรคการเมืองนั้นจะถูกนำมาใช้เพื่อคำนวนเป็นจำนวน ส.ส. พึงมีของพรรคการเมือง เหมือนกับการคิดตามรัฐธรรมนูญ ปี2560 เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562

ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และความเห็นของกรรมาธิการชุดนี้บางคนแล้วพบว่า ยังมีความสับสนอยู่ทั้ง 2 ประเด็น เช่น เรื่องการใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวทั้ง 2 ระบบ หรือแยกกัน ก็ยังมีความขัดแย้งกัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ต้องการใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการที่จะให้บัตรเลือกตั้งคนละเบอร์กัน ส่วนวิธีการคิดคำนวณที่นั่ง ส.ส.นั้น แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์เอง กรรมาธิการของพรรค ก็ยังมีความเห็นต่างกัน เช่นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ต้องการให้มีการคิดแบบ MMM แต่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ต้องการให้มีการคิดแบบ MMP

ส่วนตัวเห็นว่า เพื่อความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง และเป็นการสื่อถึงเจตนารมย์ของประชาชน ในการเลือกพรรคการเมืองจากคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อ เป็นที่นั่งจำนวน ส.ส.พึงมี ก็ควรจะคิดคำนวณที่นั่งส.ส. ตามแบบ MMP เพราะการคิดแบบ MMM เป็นการเพิ่มจำนวนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคเพื่อไทย แบบฟรีๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 20-30 คน

ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมพรรคร่วมรัฐบาล จึงยอมใช้วิธีการคิดคำนวนแบบ MMM ทั้งๆที่รู้ว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทย ได้เปรียบกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ และสามารถเกิดแลนด์สไลด์ขึ้นได้ง่าย