ข่าวประจำวัน » #สายพันธ์ุใหม่โผล่ไทยแล้ว ! ยังหาต้นตอไม่ได้ แต่ตายมากในฮ่องกง

#สายพันธ์ุใหม่โผล่ไทยแล้ว ! ยังหาต้นตอไม่ได้ แต่ตายมากในฮ่องกง

14 March 2022
564   0

 

   เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ว่า จากการเฝ้าระวังสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 5-11 มี.ค 2565 จำนวน 1,967 ราย พบว่า เหลือสายพันธุ์เดลตาเพียง 6 ราย คิดเป็น 0.3% ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 1,961 ราย คิดเป็น 99.7% เมื่อจำแนกสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ยังไม่พบเจอสายพันธุ์ย่อย BA.3 โดยเจอสายพันธุ์ย่อย BA.1 จำนวน 610 ราย และสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 1,272 ราย คิดเป็น 67.6% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่พบ 52% เมื่อแยกเฉพาะการติดเชื้อภายในประเทศ 1,383 ตัวอย่าง พบเป็น BA.2 ถึง 971 ตัวอย่าง คิดเป็น 70.2% พิจารณาจำนวน BA.2 รายสัปดาห์พบว่าสัดส่วน BA.2 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการกระจายทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งเกือบทุกเขตสุขภาพมีสัดส่วน BA.2 เกินครึ่งหนึ่ง ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 1 และ 11 ที่ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ย่อย BA.2 เริ่มเบียด BA.1 แล้ว เพราะแพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า

“อยากให้มั่นใจระบบที่เราวางไว้ เราตรวจโดยการรหัสพันธุกรรมทั้งตัว และส่งข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูลโลก GISAID ทุกสัปดาห์ 500-600 ตัวอย่าง ดังนั้น ถ้ามีอะไรผิดปกติเราเจอแน่นอน อย่างสัปดาห์ล่าสุดวันที่ 7-13 มี.ค. เราส่งผลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 673 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นโอมิครอน BA.1.1 มากที่สุด 333 ตัวอย่าง รองลงมาคือ BA.2 จำนวน 135 ตัวอย่าง ขณะที่ข้อมูล GISAID จากทั่วโลก ยังเป็นสายพันธุ์ BA.1 มากที่สุด ส่วน BA.2 ยังเจอประมาณ 2.5 แสนราย ขณะที่ BA.3 ยังอยู่ระดับ 500 กว่าตัวอย่าง” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น พบว่ามีสายพันธุ์ย่อยลงไปอีกทั้ง BA.2.1 , BA.2.2 และ BA.2.3 ซึ่งขณะนี้ GISAID ยังไม่ได้กำหนดชื่อสายพันธุ์ BA.2.2 อย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องรอการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอย่างกรณีของ “เดลตาครอน” จากไซปรัสที่เป็นการปนเปื้อนของเชื้อ คาดว่าอีกประมาณ 2-3 วันน่าจะมีความชัดเจน โดยเบื้องต้นมีการส่งข้อมูล BA.2.2 เข้ามาใน GISAID 68 ราย คือ มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งสไปก์โปรตีน I1221T โดยข้อมูลที่ซับมิทเข้ามายังน้อยกว่าที่ตรวจพบในฮ่องกงที่พบ 386 ราย และอังกฤษ 289 ราย ซึ่งเป็นคนละสายกัน และยังพบน้อยกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่น BA.2.1 จำนวน 532 ราย และ BA.2.3 จำนวน 1,938 ราย

“ส่วนกรณีฮ่องกงที่พบ BA.2.2 และมีปรากฏการณ์พบจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเกิดจาก BA.2.2 เพราะการเสียชีวิตวันนี้คือการติดเชื้ออย่างน้อย 7-8 วันก่อน หรือเป็นเดือนหากมีการรักษายาวนาน เพื่อยื้อการเสียชีวิต ขณะที่โอมิครอน BA.2 ทั่วไปก็ติดเชื้อเร็วอยู่แล้ว หากติดเร็วมากและระบบการแพทย์รองรับไม่ได้ ก็อาจทำให้การเสียชีวิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังไม่พบหลักฐานทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ปอดมากขึ้นหรือทำลายอวัยวะมากขึ้น จึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ขณะที่อังกฤษที่พบ BA.2.2 ก็ไม่ได้มีปรากฏการณ์ที่พบติดเชื้อหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเดิม” นพ.ศุภกิจกล่าว

สำหรับประเทศไทยเรามีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว และพบ 4 ราย ที่มีโอกาสเป็นสายพันธุ์ BA.2.2 แต่เนื่องจาก GISAID ยังไม่ได้กำหนดชื่อชัดเจน จึงยังต้องรอทาง GISAID ก่อน โดย 4 รายนั้นเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย อาการไม่มีปัญหาอะไร โดยรายละเอียดยังอยู่ในการระหว่างการวิเคราะห์ ทั้งนี้ ไม่ต้องวิตกกังวล ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่น่าเป็นห่วง ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำลังติดตามข้อมูลและประเมินว่า มีการแพร่เร็ว มีความรุนแรง หรือทำให้หลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือวัคซีนมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีการติดตามเฝ้าระวังตลอด


ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การติดเชื้อมากขึ้นและเสียชีวิตมากขึ้นของฮ่องกง จะต้องติดตามพิจารณาข้อมูลในส่วนอื่นด้วย ซึ่งฮ่องกงมีประชากร 7.6 ล้านคน โดยช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีการติดเชื้อโควิด 2.5 แสนราย สูงขึ้นจากเดิมที่พบ 5 หมื่นราย และเสียชีวิตช่วง 7 วัน 1,900 ราย ซึ่งผิดปกติจากทุกประเทศที่เผชิญการระบาดโอมิครอน ซึ่งทุกประเทศไม่ได้มีความแตกต่างจกาเดิมยกเว้นฮ่องกง จึงต้องติดตามข้อมูลต่อไป และต้องดูรายละเอียดว่าเป้นผู้สูงอายุหรือไม่ มีการฉีดวัคซีนหรือไม่ด้วย