25 มี.ค.2565 – คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ จัดการเสวนาเวทีสาธารณะ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม เหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 35 กับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญ และการบริหารปกครองจากปี 2535 เรื่อยมา ที่ไม่ได้ทำคือการปรับปรุงโครงสร้างบทบาทของกองทัพ ทำให้กองทัพสะสมอำนาจบารมีของตัวเองมาเรื่อยๆไม่ได้ถูกทำให้กองทัพต้องปรับตัวให้มีประสิทธิภาพ แยกตัวออกจากการเมือง รวมถึงไม่ได้ปรับโครงสร้างตุลาการทำให้ฝ่ายตุลาการยังคงเป็นอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน จึงเป็นเหตุให้นำเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแทรงเพื่อจะจัดการกับการเมือง ซึ่งฝ่ายตุลาการแผงฤทธิ์เมื่อปี 2548-2549 หลังจากการรัฐประหารได้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ โดยในช่วงหลังที่มาขององค์กรอิสระผู้ที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการก็ถูกครอบโดยฝ่ายตุลาการ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลโดยประชาชนแม้แต่น้อย ซึ่งระบบนี้มีความ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับกองทัพที่มีแนวโน้มที่จะยึดอำนาจเมื่อไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และก็สร้างระบบแบบนี้ให้แข็งแรง
“ย้อนกลับไปปี2535 มีการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการยึดอำนาจ และสืบทอดอำนาจโดยรสช.มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญในบางประเด็นให้เป็นประชาธิปไตยมากขึัน และมีศักยภาพที่ดีไปสู่การปฏิรูปการเมือง แต่สิ่งที่คาดไปคือความเชื่อในหลักเสรีประชาธิปไตย ความเชื่อในระบบรัฐสภา และความเชื่อที่ว่าประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และแนวความคิดที่ไม่เชื่อก็พัฒนาไปสู่การสร้างระบบที่ทำให้ผู้ที่มีอำนาจจริงๆคือผู้ที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย กลับกลายเป็นประเทศนี้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกตรวจสอบ หรือถ่วงดุล โดยผู้ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน และผู้ที่มีอำนาจมหาศาลที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยระบบรัฐสภา หรือประชาชนใดๆเลย”นายจาตุรนต์ กล่าว