สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในขณะที่สหรัฐฯ กดดันชาติพันธมิตรตะวันตกให้เลิกซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพื่อตอบโต้การส่งทหารรุกรานยูเครน มีข้อมูลจากฝั่งมอสโกว่า
…
อเมริกาเองกลับมีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 43% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ขึ้นมาทันทีว่า อเมริกากำลังแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวโดยแลกกับความลำบากเดือดร้อนของชาติยุโรปหรือไม่?
.
หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของจีนอ้างข้อมูลจาก มิคาอิล โปปอฟ (Mikhail Popov) รองเลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซีย ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อแดนหมีขาวเมื่อวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) ว่า
.
สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 43% หรือประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวันในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดย โปปอฟ ยังฝากไปถึงชาติยุโรปด้วยว่าพวกเขาอาจได้เห็นสหรัฐฯ ทำสิ่งที่ “น่าประหลาดใจ” เช่นนี้อีก
.
“ยิ่งไปกว่านั้น วอชิงตันยังอนุญาตให้บริษัทของพวกเขาส่งออกปุ๋ยแร่ (mineral fertilizers) จากรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่ามันคือสินค้าจำเป็น”
.
โปปอฟ กล่าวสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปพยายามหาวิธีที่จะหยุดนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียหลังเกิดสงครามในยูเครน แม้ว่ายุโรปจะต้องพึ่งพาทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างมากก็ตาม
.
หลายชาติในยุโรปเผชิญแรงกดดันทั้งจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรให้ต้องแบนน้ำมันรัสเซีย โดยอังกฤษเองประกาศว่าจะหยุดนำเข้าน้ำมันรัสเซีย 100% ภายในสิ้นปีนี้
.
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ขีดเส้นตายสำหรับการยุติสัญญาสั่งซื้อน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซียไม่เกินวันที่ 22 เม.ย.
.
ชุย เหิง (Cui Heng) ผู้ช่วยนักวิจัยจากศูนย์เพื่อรัสเซียศึกษาแห่ง East China Normal University ให้ความเห็นกับโกลบอลไทม์สว่า นโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อรัสเซียตั้งอยู่บนพื้นฐาน 2 อย่าง ได้แก่
…
1) การชูแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) เพื่อต่อต้านระบอบการเมืองและค่านิยมโดยรวมของรัสเซีย
.
2) ยึดหลักปฏิบัตินิยม (pragmatism) เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง
…
“ด้วยความจำเป็นที่จะต้องต่อต้านรัสเซียในเชิงค่านิยม สหรัฐฯ จึงพยายามโน้มน้าวชาติพันธมิตรให้คว่ำบาตรรัสเซีย แต่อีกด้านหนึ่งสหรัฐฯ ก็ได้ซื้อพลังงานจากรัสเซียในราคาที่ถูกลง แล้วนำไปขายต่อให้ยุโรปในราคาสูง ซึ่งช่วยให้กลุ่มธุรกิจพลังงานของสหรัฐฯ เองได้ประโยชน์ ท้ายที่สุดเหยื่อตัวจริงก็คือยุโรป ความมั่งคั่งของยุโรปจะไหลไปสู่มือสหรัฐฯ และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐยิ่งได้เปรียบยูโรมากขึ้น” ชุย ให้ความเห็น
.
ข้อมูลเบื้องต้นจาก Refinitiv พบว่า สหรัฐฯ มีการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นเกือบ 16% ในเดือนที่แล้ว โดยส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังยุโรป ซึ่งต้องการพลังงานจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทนก๊าซจากรัสเซีย
.
สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ว่า จะส่งออก LNG ให้แก่ยุโรปอย่างน้อย 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีกในอนาคตเพื่อสนับสนุนให้พันธมิตรยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย
.
มิค วอลเลซ (Mick Wallace) สมาชิกรัฐสภายุโรป ได้ทวีตคลิปวิดีโอขณะที่เขาปราศรัยในสภาว่า ยุโรปจำเป็นต้องการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียก็จริง แต่ก็ไม่ควรทดแทนมันด้วย “ก๊าซสกปรก” ของสหรัฐฯ ซึ่งรุกรานชาติอื่นมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก
.
นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ คือฝ่ายที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน และการแบนน้ำมันรัสเซีย ขณะที่ชาวเน็ตจีนบางคนมองว่าเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ (ในการแซงก์ชันรัสเซีย) ก็เพื่อที่จะซื้อพลังงานถูกๆ เอาไปปั่นราคาขายให้ยุโรป
——————————-