วันที่ 23 พ.ค. 65 สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ขณะนี้ชาวอังกฤษกำลังประสบปัญหาปากท้องท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ และราคาพลังงานที่พุ่งกระฉูด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของอังกฤษเผยว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. ซึ่งระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 9%
.
ท่ามกลางราคาพลังงานที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนราคาอาหารและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก
.
แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) กล่าวว่าปัญหาอาหารราคาสูงและขาดแคลนอันเป็นผลมาจากสงครามในยูเครน เป็นความกังวลใหญ่สำหรับชาวอังกฤษ และหลายพื้นที่ทั่วโลก
.
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่าครอบครัวที่ประสบปัญหาในการรับมือกับค่าไฟกำลังใช้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์เป็นที่พักพิงชั่วคราว โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในร้านเป็นครัวฉุกเฉิน ห้องน้ำ และห้องนั่งเล่น
.
แมทธิว โคล ประธานคณะกรรมาธิการของมูลนิธิ Fuel Bank ซึ่งเป็นหน่วยงานช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของครัวเรือน กล่าวว่าท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ผู้คนกำลังซื้อ Happy Meal ในราคาไม่กี่ปอนด์ให้ลูกๆ และเพื่อพักพิงในร้านแมคโดนัลด์ พวกเขาล้างหน้าและแปรงฟันในอ่าง และดูทีวีเป็นเวลาหลายชั่วโมงด้วย wifi ฟรีของทางร้าน
.
โคลยังเผยว่าพ่อแม่ที่มีปัญหาด้านการเงินพาลูก ๆ ไปที่ศูนย์นันทนาการ Leisure Centre เพื่อใช้ห้องน้ำ บางคนใช้เทียนทีไลท์หรือเทียนถ้วยเพื่อตั้งไฟกระทะ ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามห้ามไม่ให้พวกเขาเผาเฟอร์นิเจอร์หรือแผงไม้เพื่อผิงไฟให้ร่างกายอบอุ่น
.
“ปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงมักไม่ใช่ปัญหาเดียว หากคุณประสบปัญหานี้ คุณมักประสบปัญหาด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่มด้วย” โคลกล่าว
.
แคลร์ โมริอาตี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Citizens Advice หน่วยงานอิสระซึ่งให้คำแนะนำด้านกฎหมายเผยว่าหลายครัวเรือนจะไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำอุ่น ต้องอดมื้อกินมื้อ ขณะที่คนพิการอาจไม่มีเงินสำหรับอุปกรณ์ที่สำคัญเนื่องจากค่าไฟที่สูงขึ้น
.
สำนักข่าว CNBC รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยอ้างผลสำรวจของบริษัทวิจัย Ipsos และสำนักข่าว Sky News ซึ่งทำการสำรวจชาวอังกฤษจำนวน 2,000 คน พบว่า 1 ใน 4 ต้องอดมื้อกินมื้อเนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและราคาอาหารที่แพงขึ้น ขณะที่ 4 ใน 5 มีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และกลัวว่าจะไม่สามารถในการซื้อสิ่งของจำเป็นอย่างอาหาร และพลังงานได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
.
รายงานยังระบุว่า 89% ของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลว่า วิกฤตค่าครองชีพจะส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวมในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 83% มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ส่วนตัวของพวกเขา
.
ในขณะที่สถานการณ์คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ แต่โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าแรงต่ำกว่าก็มีความกังวลอย่างมาก โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 ปอนด์กล่าวว่า “กังวลมาก” ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตจนจบปีนี้อย่างไร ขณะที่ 2 ใน 5 ของผู้ที่มีรายได้ 55,000 ปอนด์ขึ้นไปรู้สึกแบบเดียวกัน
.
ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามในยูเครนทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานอาหารที่มีอยู่แย่ลงไปอีก ขณะที่ยูเครนซึ่งถูกมองว่าเป็นตะกร้าขนมปังของยุโรป ไม่สามารถส่งออกธัญพืช ปุ๋ย และน้ำมันพืชได้ท่ามกลางความขัดแย้ง นอกจากนี้สงครามยังทำลายพื้นที่เพาะปลูกและขัดขวางการเก็บเกี่ยว
.
“ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน” จอห์น ริช ประธานกรรมการบริหาร MHP และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารกล่าวกับ CNBC
.
“เรามีโควิด เรามีสงคราม เรามีนโยบายปลอดโควิดของจีน ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าแทบเป็นไปไม่ได้ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ทั้งหมดนี้ขัดขวางการทำงานของซัพพลายเชนโลก (ห่วงโซ่อุปทาน)”
——————————-