วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธาน คนที่หนึ่ง นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองประธาน คนที่สี่ และนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ กรรมาธิการ นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ ที่ปรึกษาคณะอนุกมธ. พร้อมคณะ ได้ประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคณะผู้บริหารของโรงเรียน เอกชนและ ของภาครัฐ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการศึกษา การเรียนการสอน และการสร้างเสริมโอกาสการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียนไทยพุทธและมุสลิม ณ ห้องประชุมโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
คณะกมธ.ได้รับการต้อนรับจาก นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายนิเดร์ วาบา นักปราชญ์ และนักปฏิรูปการศึกษาแห่งโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา นายอุสมาน อารง ผู้อำนวยการโรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา นายสมมาตร บารา นายอำเภอสายบุรี นายนิติ นิเดหะ นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน ทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองตะลุบันจำนวน ๖ แห่ง และผู้แทนโรงเรียนเอกชนในเขตอำเภอสายบุรี จำนวน ๑๒ แห่ง
ท่านนิเดร์ วาบา เป็นนักปราชญ์และนักคิดคนสำคัญ ที่สุดคนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาสมัยใหม่ของพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านเป็นผู้ริเริ่มให้เด็กนักเรียนมุสลิมเรียนภาษาไทยเพื่อให้สามารถสื่อสารกับคนไทยชาวพุทธได้ ตั้งแต่หลังปีพ.ศ. 2512 เป็นต้นมา และในที่สุดในปีพ.ศ.2554 หลักสูตรบูรณาการระหว่างการเรียนศาสนาอิสลามกับการเรียนวิชาสามัญ ก็ได้รับการรับรองจาก กระทรวงศึกษาธิการหลักสูตร ต้นแบบนี้เน้นการปลูกฝังความเข้าใจระหว่างนักเรียนมุสลิมกับนักเรียนพุทธ
จากนั้น นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้กล่าวกล่าวต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการคณะนี้ตั้งขึ้นจากแนวคิดที่ว่าการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำซี่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทยนั้น ต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน และหลายภาคส่วน เข้าด้วยกัน
ประวัติศาสตร์ ระยะใกล้นี้ โลกประสบปัญหาทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งปัญหาสงคราม ระหว่างรัสเซียกับยูเครน สหรัฐและชาติพันธมิตรโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูงมาก เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องมีทักษะที่หลากหลาย เช่น การพูดอ่านเขียนได้หลายภาษา และต้องมีความเข้าใจ หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายศาสนา เพื่อให้สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิต และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ การแก้ปัญหาความยากจนที่สำคัญคือต้องสร้างนักเรียนที่คิดเป็นและ ทำงานเป็น
นายพลเดช ปิ่นประทีป ได้กล่าวว่า การมาครั้งนี้เน้นเรื่องการศึกษาเป็นหลัก เครื่องมือในการเอาชนะความยากจนที่ดีที่สุดคือการศึกษาที่ทำให้คนมีความรู้ มีสมรรถนะในการทำงาน ที่ผ่านมาการศึกษาไม่ได้ทำให้เอาชนะความยากจนได้ แต่กลับยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นการเรียนการสอนแบบ Knowledg Based Education คือการสอนให้ท่องจำ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนตามให้เป็นแบบ Competency Based Education คือการศึกษาแบบฐานสมรรถนะ ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการศึกษาฉบับใหม่จะใช้แนวทางดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership Project ที่มีการร่วมบริหารโดยภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคราชการ โดยรัฐบาลมอบหมายให้นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้บุกเบิกโครงการดังกล่าว ขณะนี้มีโรงเรียนอยู่ในเครือข่าย ๑๕๑ โรงเรียนใน ๔๓ จังหวัด มีการปรับการเรียนการสอนจากเดิมที่มุ่งเน้นให้เด็กไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป แต่มีเด็กส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ศึกษาต่อ จะทำอย่างไรกับเด็กเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึง ต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ของคนทุกวัย เป็นศูนย์พัฒนาชุมชน โดยมีหลักสูตรแกนกลาง ๘ วิชา แต่มีการสอนเพิ่มอีก ๒ เรื่องคือ
๑. ทักษะชีวิต เช่น การรู้เท่าทันยาเสพติด การรู้จักเลือกคบเพื่อน เป็นต้น โดยรวมคือ ทักษะการเอาชีวิตรอดหรือ Life Skill
๒. ทักษะอาชีพ คือสอนให้เด็กนักเรียนรู้จักทำมาหากิน ทั้งด้านการทำเกษตรกรรม เช่น การปลูกพืชผักต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นอาหารกลางวัน และนำไปขายในชุมชนในตลาด ทำให้เด็กนักเรียนมีรายได้ เป็นการฝึกการประกอบอาชีพในขณะที่ยังเรียนหนังสือ ถ้าไม่เรียนต่อก็ยังมีอาชีพได้
ทั้งอาชีพการเกษตรหรือเป็นช่าง เป็นต้น
จากนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนประชารัฐ อาชีวะประชารัฐ เพื่อให้เด็กยากจนมีโอกาสได้เรียน แต่ปัญหาคือขาดความต่อเนื่องและไม่ยั่งยืน นอกจากนนี้ผู้ปกครองในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการเรียนศาสนาที่มีความเข้มข้น เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนด้านศาสนาอย่างเข้มข้นจึงได้รับความนิยม ถ้าโรงเรียนของรัฐที่มีขนาดเล็ก มีการปรับตัว โดยมีการสอนศาสนาเข้มข้นขึ้น ก็จะทำให้มีปริมาณนักเรียนเพิ่มขึ้นได้
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้กล่าวสรุปว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ การศึกษาต้องไม่มุ่งเน้นเรื่องการแข่งขัน หรือความสำเร็จของปัจเจกบุคคลมาก จนเกินไป แต่การศึกษาต้องทำให้เด็กนักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ และมนุษยชาติ เป็นการศึกษาที่ไม่สอนให้คนเห็นแก่ตัว หรือเอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งประเด็นเรื่องการศึกษา แนวใหม่นี้ ทางคณะกมธ. และผู้แทนในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะร่วมมือกันส่งเสริมแนวทางการศึกษาแบบใหม่นี้อย่างจริงจังต่อไป
ในช่วงบ่าย คณะกมธ.ได้ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคณะผู้บริหารโรงเรียนสายบุรี (แจ้งประภาคาร) ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยได้รับการต้อนรับจากนายเสรี ยีดอรอแม ผู้อำนวยการ รวมทั้งครูอาจารย์ และเด็กนักเรียน โดยคณะได้เดินเยี่ยมชมสถานที่และการปฏิบัติศาสนกิจของเด็กนักเรียนไทยพุทธและไทยมุสลิม
นายเสรี ยีดอรอแม ผู้อำนวยการได้กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงเรียนสายบุรี (แจ้งประชาคาร) เป็นโรงเรียนพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งเด็กไทยจีน ไทยพุทธ ไทยมุสลิม เด็กเขมรและเด็กพม่ามาเรียนร่วมกัน ซึ่งมีทั้งหลักสูตรสามัญ หลักสูตรอิสลามศึกษา และหลักสูตรวิถีพุทธ ปัจจุบันมีนักเรียน ๖๑๙ คน เป็นเด็กนักเรียนมุสลิม ๔๗๗ คน และเป็นเด็กพุทธ ๑๔๒ คน เด็กนักเรียนไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกัน ส่วนปัญหาคือครูไม่เพียงพอ และ นักเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นการรับเด็กยากจน เด็กถูกทอดทิ้ง และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ปัญหาคือมีหอพักไม่เพียงพอ กับจำนวนนักเรียน ขณะนี้มีเด็กนักเรียนประชารัฐ ๑๙๔ คน แต่มีที่พักแค่ ๖๐ คน กระนั้นก็ดีทางโรงเรียนได้มีการดูแลเรื่องอาหารเช้าและอาหารกลางวัน และถ้ามีงบประมาณเพียงพอ จะจัดเป็นเงินค่าอาหาร เย็นให้ด้วย นอกจากนี้โครงการ Smart Plus Room ของโรงเรียน ยังติดปัญหาเรื่องการหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต
นายพลเดช ปิ่นประทีป ได้กล่าวว่า คณะกรรมาธิการมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง คือการทำให้คนมีอาหาร มีอาชีพ และมีรายได้ แต่ในวันนี้จะเน้นเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนด้วย การศึกษา ซึ่งปัจจุบันกำลังมีกาพิจารณาพรบ.ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ที่จะเน้นด้านสมรรถนะของเด็กนักเรียนให้มีความรู้ด้านทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และเติบโตไปเป็นผู้นำ เป็นผู้ประกอบการที่สามารถเอาตัวรอดได้ในสังคม
ในประเด็นดังกล่าว นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้กล่าวเสริมว่า การส่งเสริมด้านการศึกษานั้น ต้องให้ความสนใจกับเด็กนักเรียนที่เรียนไม่เก่งด้วย การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อเด็กทุกคน ในความเป็นจริงแล้วเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง แต่ควรส่งเสริมให้เขาได้เรียนในเรื่องที่เขามีความสนใจ และส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ เขาก็จะสามารถ มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้และเอาตัวรอดในสังคมได้
สำหรับการเดินทางมาครั้งนี้ ผมมี ข้อสรุปบางประการดังนี้คือ
๑. เราได้พบว่าท่านดาโต๊ะ นิเดร์ วาบา และคณะได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ที่ถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนไทยมุสลิม ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อกว่า ๕๐ มาแล้วโดยบูรณาการความรู้เรื่องศาสนาอิสลามเข้ากับหลักสูตรสามัญ ของกระทรวงศึกษาธิการ แทนที่จะเป็นโรงเรียนสอนศาสนา แบบเดิมทฤษฎีการจัดการศึกษาแบบใหม่ของท่านถือ ได้ว่าเป็น “นวัตกรรมด้านสังคม” (Social Innovation) รูปแบบหนึ่ง ของสังคมไทย เพราะก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พี่น้องไทยมุสลิม อย่างกว้างขวาง แนวทางการศึกษาแบบนี้ช่วยให้พี่น้องไทยมุสลิมและไทยพุทธสามารถสื่อสารกันได้ สร้างโอกาสในชีวิต ( Life Chance) ให้แก่เด็กไทยมุสลิมเป็นจำนวนมาก ในเรื่องของการมีอาชีพและการมีงานทำตลอด ๕๐ ปีที่ผ่านมา ช่วยส่งเสริมสันติสุขระหว่างคนไทยที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำของคนไทยใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. ข้อเสนอของกมธ.ที่ให้ต่อยอดความสำเร็จของท่านดาโต๊ะนิเดร์ วาบาด้วยการเพิ่มทักษะด้านการมีอาชีพและด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษาที่เป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่สองให้แก่เด็กนักเรียนที่เป็นทั้งมุสลิมและพุทธ เป็นการปฏิรูปเพื่อสร้างโอกาสในชีวิตและการมีงานทำให้เกิดเด็กนักเรียนทุกคนในอนาคต
แนวคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล ที่เข้าร่วมการประชุม อย่างกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา
๓. ทิศทางการ ปฏิรูปการศึกษา ที่เป็น “นวัตกรรมทางด้านการศึกษา” ของโรงเรียน ต่างๆที่จะเข้าร่วม ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ประกอบด้วย
๓.๑ โรงเรียนยังคงเน้นเรื่องการศึกษา ด้านศาสนาอย่างเข้มข้น โรงเรียนที่มีแต่เด็กนักเรียนมุสลิมเน้นศาสนาอิสลามอย่างเดียว ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียน มุสลิมและพุทธ จะเน้นทั้งสองศาสนา
๓.๒ นักเรียนจะเรียนหลักสูตรสายสามัญของกระทรวง ศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในชีวิตของการมีอาชีพและ การมีงานทำ
๓.๓ โรงเรียนจะส่งเสริมให้นักเรียน มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างๆมากขึ้น เช่น ภาษาไทย มาลายูยาวี อาหรับ อังกฤษ และจีน เป็นต้นเพื่อให้นักเรียน มีทักษะในการสื่อสารและการ มีงานทำที่หลากหลายในอนาคต
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕