.
วันนี้ (30 มิถุนายน) พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสารและกองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งเครือญาติมาเป็นคณะทำงาน ว่าผิดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ว. และผิดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
.
โดยตรีรัตน์กล่าวว่า วันนี้มีประชาชนจำนวนมากมีความเคลือบแคลงใจและสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ทั้งเรื่องจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นจึงขอให้ กมธ.ป.ป.ช. ร่วมค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชนหรือความเป็นธรรมที่สุด เนื่องจาก ส.ว. และคณะทำงานที่ตั้งขึ้นนั้นมาจากภาษีของประชาชน ซึ่งหากการตั้งคณะทำงานดังกล่าวส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ก็จำเป็นที่จะต้องแจ้งไปยังประชาชนเพื่อทราบ
.
ด้าน พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวตนเคยให้สัมภาษณ์มาก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัวมองว่ากรณีดังกล่าวอาจไม่ถึงขั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเพียงเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยเรื่องร้องเรียนในวันนี้จะนำเข้าสู่การประชุมของ กมธ.ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งหากนักการเมืองทำผิดต่อรัฐธรรมนูญหรือผิดจริยธรรมร้ายแรง ก็จำเป็นที่จะต้องส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
.
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนได้ติดตามกรณีดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งจากการติดตามข่าวพบว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการแต่งตั้งเครือญาติขึ้นมาเป็นคณะทำงานต้องถามว่าเป็นการแต่งตั้งเข้ามาเพื่อมาช่วยงานหรือไม่ ซึ่งในบางกรณีอาจเป็นการแต่งตั้งเข้ามาเพื่อช่วยงานจริง แต่บางกรณีอาจไม่ใช่ หากแต่เป็นการแต่งตั้งเข้ามาเพื่อนำเงินเข้ากระเป๋าตนเอง ซึ่งถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและภาษีของประชาชน ท่ามกลางสภาวะที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตข้าวยากหมากแพง โดยสิ่งใดที่ประหยัดได้ก็จำเป็นที่จะต้องประหยัด ซึ่งกรณีของ ส.ว. ตนจะพิจารณาว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และยังจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ส.ว. ควรมีผู้ช่วยในลักษณะใดและจำนวนเท่าใด เพื่อเสนอต่อสภาเพื่อพิจารณาเป็นข้อบังคับนำสู่การปฏิบัติต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเช่นนี้ ซึ่งเมื่อมีการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ ส.ว. แล้ว ทางกรรมาธิการก็จะตรวจสอบในส่วนของ ส.ส. ด้วย เพราะจะถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นธรรม เพราะมีการปฏิบัติในลักษณะที่คล้ายกัน
.
“ในประเด็นนี้หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนผู้ช่วย ส.ส. และ ส.ว. ที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อไม่ให้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาใช้จ่ายโดยสุรุ่ยสุร่าย และที่ต้องตรวจสอบ ส.ส. ด้วยนั้น เพราะเห็นชัดๆ ว่ามีคนนามสกุลเดียวกัน แต่บางคนก็มีแฝงเหมือนกันในลักษณะเครือญาติให้เขามาช่วยงาน เช่น พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. ซี่งนามสกุลก็เห็นชัดอยู่แล้ว แต่ พล.ต.ท. วิบูลย์ บางท่าไม้ ส.ว. คุณรู้หรือไม่ว่าเขาเกี่ยวข้องทางเครือญาติอย่างไร เพราะแม้คนละนามสกุลแต่เขาเป็นน้องเขยของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเอามาเป็น ส.ว. เพื่อยกมือโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ” พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์กล่าวในที่สุด
.