นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ และ น.ส. ภคอร จันทรคณา รองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ร่วมกันแถลงข่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา พ.ศ. … และ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โดยนายมงคลกิตติ์ ระบุว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ได้ยื่นผ่านทาง น.พ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นั้น เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป โดยเฉพาะเรื่องการสืบสวนสอบสวน ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ส.ส. ในสภาร่วมลงชื่อกันเป็นจำนวนมาก โดยหลักการสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา พ.ศ. … ก็คือ การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจในการสืบสวนสอบสวนที่ยังเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ได้บังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 โดยจะเปิดโอกาสให้การสืบสวนสอบสวน ระหว่างอัยการกับตำรวจนั้น ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนตั้งแต่จุดเริ่มต้นร่วมกัน ในคดีที่มีความสลับซับซ้อน และมีอัตราโทษสูงตั้งแต่โทษจำคุกเกิน 10 ปี ขึ้นไป ในส่วนของการพิสูจน์หลักฐานและกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น ปัจจุบันทั้งสองสายงานอยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ได้มีการเปิดช่องให้สามารถรับหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดีจากเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้ โดยอยู่ในดุลพินิจร่วมกันทั้งจากตำรวจและอัยการ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเชิงเดี่ยวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … นั้น หลักสำคัญก็คือ จะเป็นการแก้ไขมาตรา 5 (2) ที่ระบุให้ บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหาย ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ สามารถจัดการแทนผู้เสียหายได้ โดยจะมีการระบุบุคคลอื่นๆ เพิ่มเติม ให้สามารถเป็นตัวแทนผู้เสียหายในคดีอาญาได้ เช่น สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย พี่น้องร่วมบิดามารดา และพี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา มีมาตรการป้องกันข้อครหาในเรื่องการฮั้วกัน เช่น เกิดกรณีที่ฝ่ายจำเลยตกลงจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแก่โจทก์ ปรากฏว่า ฝ่ายโจทก์ไม่เอาเรื่อง ถือว่าคดีอาญาที่เกิดขึ้นเป็นอันเลิกกัน สามารถถอนฟ้องได้ รวมทั้ง ในเรื่องของการชันสูตรพลิกศพนั้น จะมีการกำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้เสียหายว่าจะเลือกให้แพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพทั้งจากรัฐและเอกชน และทั้งในและต่างประเทศ สามารถเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพได้ นอกเหนือจากพนักงานสอบสวนที่ระบุอยู่ใน ป.วิฯ อาญา
นอกจากนี้ ทางพรรคฯ ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายกฎหมายของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. สำนักงานทนายแห่งรัฐ พ.ศ. … โดยมีหน้าที่รับว่าความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซี่งทนายความตามร่าง พ.ร.บ. นี้ จะได้รับเงินเดือนประจำทดแทนค่าทนายความ รวมทั้งยังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนทั่วไปที่มีฐานะยากจนหรือไม่สามารถจัดหาทนายในการต่อสู้คดีได้ โดยจะมีการยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งตนและทางพรรคหวังว่า ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนั้น จะเป็นการอำนวยการให้เกิดความยุติธรรมอย่างเสมอภาคถ้วนหน้าและทั่วถึงกัน ตามความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประสบผลสำเร็จ
ทางด้าน น.ส.ภคอร กล่าวว่า เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีบทบัญญัติบางประการที่ล้าสมัยไม่เป็นไปตามสภาพ ของสังคมไทยในปัจจุบัน ทางพรรคไทยศรีวิไลย์ จึงได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคทำการกำหนดประเด็นและฝ่ายกฎหมายสภาเป็นฝ่ายสนับสนุนและร่างตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายพรรคให้เข้ากับตัวบทกฎหมายใหม่ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 2 ประเด็นคือ
1. ผู้เสียหายในคดีความอาญา ซึ่งเดิมทีกฎหมายเก่าจะเป็นพ่อแม่ผู้เสียหายหรือสามีภรรยาที่ทำการจดทะเบียนกันเป็นผู้เสียหายเดิมแต่ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยมีการจ่ายเงินให้กับโจทก์ซึ่งโจทก์มีเพียงแค่หนึ่งคนเท่านั้นซึ่งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทางคดีอาญามีจำนวนน้อยเกิดการสมยอมความเกิดขึ้น ถ้าจะให้เกิดความชัดเจนก็คือ เกิดการฮั้วคดี จึงได้มีการปรับแก้ไขให้ประชาชนบางส่วนที่อาศัยอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาโดยมิได้มีการจดทะเบียนสมรส เมื่อเกิดความเสียหายทางอาญาขึ้น สามีหรือภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาสามารถเป็นผู้เสียหายได้
2. ประเด็นเรื่องการชันสูตรพลิกศพ เดิมทีแล้วอำนาจหน้าที่จะขึ้นตรงกับนิติเวชของตำรวจซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งการตรง หรือเรียกว่าอำนาจในการสั่งคดี ดังนั้นสิ่งที่เราทำอยู่คือเป็นการถ่วงดุลอำนาจของระบบกระบวนการยุติธรรมของ สตช. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรโดย จะให้มีการแปรญัตติเพิ่มทีหลังว่าผู้เสียหายสามารถมอบให้ใครเป็นผู้ตรวจชันสูตรพลิกศพก็ได้ หรืออาจจะมีการทำประชาพิจารณ์ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนทำก็ได้ โดยจะมีการเพิ่มเติม แพทย์โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์โรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ในการดำเนินการชันสูตรพลิกศพอีกด้วย