เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #คุก 2 ปี ส.ส.เพื่อไทย ! คำพิพากษาฉบับเต็ม นอมินีนายใหญ่ ไม่รอลงอาญา

#คุก 2 ปี ส.ส.เพื่อไทย ! คำพิพากษาฉบับเต็ม นอมินีนายใหญ่ ไม่รอลงอาญา

11 July 2022
477   0

   คำพิพากษาศาลฎีกาฯฉบับเต็ม! ‘เกษม นิมมลรัตน์’อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นบัญชีฯเท็จ ป.ป.ช.อีกคดี กรณีพ้นเลขาฯนายก อบจ. จำคุก 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ห้ามดำรงตำแหน่งการเมือง 5 ปี พฤติการณ์อำพรางที่ดิน 10 แปลง บ้าน 2 หลัง รถยนต์ 2 คัน หุ้น 72 ล. ในชื่อน้องชาย แม่ยาย หลานเมีย แม่ หลบเลี่ยงถูกยึดทรัพย์คดีรวยผิดปกติ


วันที่ 30 พ.ค.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จปกปิดข้อเท็จจริงที่ต้องแจ้งให้ทราบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กรณีพ้นจากตำแหน่งเลขานุการนายก อบจ.เชียงใหม่ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันพ้นตำแหน่งเลขานุการนายก อบจ.เชียงใหม่ องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นควรลงโทษจำคุก 2 เดือน ( คดีหมายเลขแดงที่ อม.10 /2565)

พฤติการณ์ที่มาในคดีนี้ นายเกษมไม่แสดงรายการทรัพย์สินหลายรายการและโอนอำพรางให้พี่น้อง ปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้ถูกบังคับคดีในคดีที่นายเกษมถูก ป.ป.ช.ชี้มูลปกปิดบัญชีทรัพย์สินและร่ำรวยผิดปกติต่อมาศาลมีคำพิพากษายึดทรัพย์ในคดีก่อนหน้านี้ ซึ่งคดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 (ข่าวเกี่ยวข้อง:โดนคดีที่ 4! ศาลฎีกาฯ คุกจริง 2 เดือน ‘เกษม’อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นบัญชีฯเท็จ ป.ป.ช.)

คราวนี้มาดูคำพิพากษาอย่างชัดๆ

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงทีละประเด็นมารายงาน

ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง

นายเกษม นิมมลรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหา

เรื่อง การแสดงบัญชีรายงานทรัพย์สินและหนี้สิน

@ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ยื่นบัญชีฯเท็จ 5 กรณี

ผู้ร้องยื่นคําร้องและแก้ไขคําร้องว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 และพ้นจากตําแหน่งเมื่อ วันที่ 5 ตุลาคม 2558 ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 และพ้นจากตําแหน่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินและเอกสารประกอบของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามที่มีอยู่จริงต่อผู้ร้อง แต่ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วย ข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กล่าวคือ

กรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) จํานวน 20,612,770 หุ้น มูลค่ารวม 74,205,972 บาท ของนางดวงสุดา นิมมลรัตน์ คู่สมรส ที่อยู่ในชื่อ ของนางบุญทอง สุภารังสี มารดาของผู้ถูกกล่าวหา

ส่วนกรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่แสดงรายการทรัพย์สิน ที่ดิน 7 แปลง โฉนดเลขที่ 59128 และ เลขที่ 59129 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โฉนดเลขที่ 65984 ตําบลสันผักหวาน อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในชื่อของนายวิชัย นิมมลรัตน์ น้องของผู้ถูกกล่าวหา โฉนดเลขที่ 612455 ตําบลแม่ยาว อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โฉนดเลขที่ 79245 ตําบลในเมือง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน โฉนดเลขที่ 6715 ตําบลเชียงดาว อําเภอ เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และโฉนดเลขที่ 1797 ตําบลหนองผึ้ง อําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง อยู่ในชื่อของนางมาลี แสนกลาง มารดาของนางดวงสุดา นิมมลรัตน์ คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา และ สิ่งปลูกสร้าง 2 หลัง เลขที่ 129/171 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 59129 และบ้านไม้ชั้นเดียวไม่มีเลขที่ ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนด เลขที่ 1797 รถยนต์ 2 คัน ซึ่งอยู่ในชื่อของนายวิชัยน้องของผู้ถูกกล่าวหา และรายการเงินลงทุนใน บริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) จํานวน 20,612,770 หุ้น ดังกล่าว ที่ดิน 3 แปลง โฉนดเลขที่ 88670 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อนายเกรียงศักดิ์ แสนกลาง โฉนดเลขที่ 88671 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อ นายวรพล วาสนาธาดากุล โฉนดเลขที่88673 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อนายพันธมิตร แสนกลาง

@ ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง-รถยนต์ หายไปจากการยื่นบัญชีฯครั้งก่อน

กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีไม่แสดงรายการทรัพย์สินในส่วนรายการที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการเดิมที่ไม่แสดงไว้ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินสองครั้งก่อน

จากการตรวจสอบพบว่าผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสทํานิติกรรมโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปอยู่ในชื่อของ ญาติพี่น้องและบุคคลอื่นจํานวนหลายรายการจึงได้ดําเนินการสอบปากคําพยานบุคคลและมีหนังสือ ขอทราบข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อม. 64/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 43/2560 วินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านไม่แสดงหุ้น 20,612,770 หุ้น มูลค่ารวม 74,205,972 บาท เป็นการปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แสดงรายการหุ้นดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ส่วนรายการทรัพย์สินอื่น ๆ ฟังไม่ได้ว่า ขายให้นายวิชัย นางมาลี นางสาวกมลวรรณ นายเกรียงไกร นายพันธมิตร จริง แต่เป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่อเป็นการอําพรางทรัพย์สินโดยมีเจตนาให้บุคคลอื่นถือครองทรัพย์สินไว้แทน ผู้รับโอนทรัพย์สินต่างมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในฐานะเครือญาติกับผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวมีรายการ เคลื่อนไหวหรือเงินฝากคงเหลือในบัญชีธนาคารระหว่างทําการซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่ได้ ประกอบอาชีพมั่นคงหรือมีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สิน ไม่ปรากฏว่าได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2558 และ 2559 และการโอนกรรมสิทธิ์ทุกรายการเกิดขึ้นใน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่อัยการสูงสุดยื่นคําร้องต่อศาล ขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดิน เป็นพฤติการณ์เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาหลีกเลี่ยงมิให้ถูกบังคับคดี หากศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินแต่ไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนั้นได้ ขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่น บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด ข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่ง และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และกรณีเข้ารับตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่ง และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

@ ปฏิเสธข้อกล่าวหา-ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อ กม.

ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ผู้ถูกกล่าวหายื่นคําร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ว่าผู้ร้องมีคําขอท้ายคําร้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว และมิใช่กรณีอ้างตัวบทกฎหมายผิด ทั้งผู้ร้องยื่นคําร้องคดีนี้ภายหลังกฎหมายฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องไม่ประสงค์จะลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งศาลเห็นควรรวมวินิจฉัยในคําพิพากษา

@ซุกหุ้น บ.แอนคอนฯ 74 ล้านบาท -ที่ดิน 10 แปลง

พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนประกอบรายงานของผู้ร้องแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 และพ้นจากตําแหน่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ต่อมา ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 และพ้นจากตําแหน่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) จํานวน 20,612,770 หุ้น มูลค่ารวม 74,205,972 บาท

และผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่แสดงรายการทรัพย์สิน ที่ดิน 7 แปลงโฉนดเลขที่ 59128 และเลขที่ 59129 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โฉนดเลขที่ 65984 ตําบล สันผักหวาน อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในชื่อนายวิชัย นิมมลรัตน์ น้องของผู้ถูกกล่าวหา โฉนดเลขที่ 61245 ตําบลแม่ยาว อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โฉนดเลขที่ 79245 ตําบล ในเมือง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน โฉนดเลขที่ 6715 ตําบลเชียงดาว อําเภอเชียงดาว จังหวัด เชียงใหม่ โฉนดเลขที่ 1797 ตําบลหนองผึ้ง อําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในชื่อนางมาลี แสนกลาง มารดาของนางดวงสุดา นิมมลรัตน์ คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา และสิ่งปลูกสร้าง 2 หลัง เลขที่ 129/171 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 59129 และบ้านไม้ชั้นเดียวไม่มีเลขที่ ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1797 รถยนต์ 2 คัน ซึ่งอยู่ในชื่อนายวิชัยน้องของผู้ถูกกล่าวหา และรายการเงินลงทุนในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) จํานวน 20,612,770 หุ้น ที่ดิน 3 แปลง โฉนดเลขที่ 88670 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อนายเกรียงศักดิ์ แสนกลาง โฉนดเลขที่ 88671 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อนายวรพล วาสนาธาดากุล โฉนดเลขที่ 88673 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อนายพันธมิตร แสนกลาง

13634907911363490831l e1489660992267

@ เกษม นิมมลรัตน์

กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีไม่แสดงรายการทรัพย์สินในส่วนรายการที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการเดิมที่ไม่แสดงไว้ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินสองครั้งก่อน ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2560 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อม. 64/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 43/2560 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตําแหน่งและกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดํารงตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กรณีเข้ารับตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่ง และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรณีเข้ารับตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงรายการเงินลงทุนในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) มูลค่ารวม 74,205,972 บาท ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2558 อันเป็นวันที่พ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กับลงโทษจําคุก 12 เดือน วันเดียวกันศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษาในคดีหมายเลขดําที่ อม. 97/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 44/2560 ว่า ให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหารวมมูลค่า 168,453,245.70 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน หากไม่อาจบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินตามคําพิพากษาข้างต้นได้ทั้งหมดหรือ ได้แต่บางส่วน ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในอายุความ 10 ปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ให้คืนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน กก 111 เชียงใหม่ มูลค่า 700,000 บาท และหุ้น NFC จํานวน 9,870 หุ้น แก่เจ้าของ คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

@ คำร้อง ป.ป.ช.ชอบด้วย กม.

ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรก เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคําร้องของผู้ถูกกล่าวหาก่อนว่า ผู้ร้องมีคําขอท้ายคําร้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว จึงเป็น เรื่องที่ผู้ร้องไม่ประสงค์จะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่ผู้ร้องยื่นคําร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยยกเลิก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 ยังคงบัญญัติให้การกระทําตามคําร้องเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิม มิใช่เป็นการยกเลิกการกระทําอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว จึงต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําผิดบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง และมาตรา 17 ทั้งศาลย่อมมีอํานาจกําหนดมาตรการบังคับทางเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง ได้ ดังนี้ การที่ผู้ร้องบรรยายคําร้องและมีคําขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34,119 ซึ่งเป็น กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิด โดยมิได้อ้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 114, 167 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นคําร้องมาด้วย ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องยื่นคําร้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทําเช่นนั้นเป็นความผิดแล้ว คําร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม หาใช่ผู้ร้องไม่ประสงค์ให้ลงโทษดังที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

@กรณีพ้นรองนายก อบจ. เข้ารับเลขาฯ ในวันเดียวกัน กม.กำหนดไม่ต้องยื่น – ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และ กรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่หรือไม่

ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ในวันเดียวกัน จึงไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 105 วรรคสี ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติภายหลังให้การกระทําเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 105 วรรคสาม บัญญัติว่า “การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นตามกําหนด ดังต่อไปนี้ (1) ตําแหน่งตามมาตรา 102 (1) … (9) ให้ยื่นเมื่อเข้ารับตําแหน่ง และพ้นจากตําแหน่ง” และวรรค สี่ บัญญัติว่า “ในกรณีตาม (1) ถ้าพ้นจากตําแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเดิมหรือตําแหน่ง ใหม่ภายในหนึ่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตําแหน่งและกรณีเข้าดํารงตําแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน” แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่พ้นจากตําแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งใหม่ภายในหนึ่งเดือนนั้น ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตําแหน่งเดิมและกรณีเข้ารับตําแหน่งใหม่ ส่วนการยื่นเพื่อเป็นหลักฐานนั้นเป็นเรื่องความสมัครใจ หาใช่กรณีที่มีกฎหมายบังคับไม่ ดังนี้ เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของ กฎหมายที่ใช้ในภายหลังไม่ได้กําหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐเช่นผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องในกรณีดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกําหนดว่าการกระทําเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป แม้หากผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาก็พ้นจากการเป็นผู้กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 17 จึงไม่อาจพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดในความผิดสองฐานนี้ได้ ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหา ข้อนี้ฟังขึ้น

@ พ้นผิด กรณีไม่ยื่นตอนพ้นหนึ่งปีรองนายกฯ-เลขาฯ นายก อบจ. เหตุ กม.ป.ป.ช.ปี 61 ไม่บังคับ

ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิด ข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดํารงตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดํารงตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่หรือไม่

เห็นว่า พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้ในภายหลังไม่ได้กําหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐเช่นผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องในกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกําหนดว่า การกระทําเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป แม้หากผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี และกรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ผู้ถูกกล่าวหาก็พ้นจากการเป็นผู้กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 17 จึงไม่อาจพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดในความผิดสองฐานนี้ได้ ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหา ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน

@ อำพรางจดทะเบียนขาย ที่ดิน 2 แปลง บ้าน รถยนต์ 2 คัน ให้น้องชาย หนีคดียึดทรัพย์

ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 หรือไม่

ในส่วนทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสโอนให้ญาติพี่น้องหลายรายการนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยเป็นลําดับไปดังนี้

สําหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 59128, 59129 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 129/171 และที่ดินโฉนด เลขที่ 65984 ตําบลสันผักหวาน อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าขายให้ นายวิชัย นิมมลรัตน์ น้องชายผู้ถูกกล่าวหา ในราคารวมทั้งสิ้น 2,500,000 บาท กับรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ หมายเลขทะเบียน กธ 7000 เชียงใหม่ และรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า เล็กซัส หมายเลขทะเบียน กบ 8888 เชียงใหม่ ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าขายให้นายวิชัยในราคาคันละ 400,000 บาท นั้น

เห็นว่า นายวิชัย นิมมลรัตน์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาได้ย้ายไปทํางานและพักอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานแล้ว จะเดินทางกลับประเทศไทยเพียงปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง โดยช่วงเกิดเหตุได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2559 จึงไม่มีความจําเป็นต้องซื้อที่ดินและรถยนต์จากผู้ถูกกล่าวหา สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนที่ไม่ปรากฏว่านายวิชัยได้เข้าครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินหรือใช้สอยรถยนต์นั้นแต่ประการใด ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าหาผู้ซื้อรายอื่นไม่ได้ เพราะบุคคลอื่นเกรงว่าผู้ร้องจะอายัดทรัพย์สินนั้น นายวิชัยเองก็ย่อมต้องทราบหรือควรจะทราบว่า การซื้อทรัพย์สินในเวลานั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบทรัพย์สินในภายหลัง ทําให้เชื่อได้ว่า นายวิชัยเพียงแต่ยอมให้ใช้ชื่อของตนเพื่อปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา โดยมีเจตนาจะช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดเท่านั้น มิได้มีเจตนาจะซื้อทรัพย์สินเป็นของตนอย่างแท้จริง ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่ามีการชําระราคาค่าซื้อขายเป็นแคชเชียร์เช็ค ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่าใครเป็น ผู้ออกเงินซื้อแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าว และเงินที่ซื้อมีที่มาจากแหล่งใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ถูกกล่าวหาได้ทําสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 59128, 59129 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 129/171 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ในราคา 2,000,000 บาท และทําสัญญาขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 65984 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ในราคา 500,000 บาท และขายรถยนต์ ทั้งสองคันดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ในราคาคันละ 400,000 บาทเศษ นั้น เห็นได้ว่า มีลักษณะเป็นการเร่งรีบขายทรัพย์สินจํานวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน นับว่าผิดวิสัยของการขาย ทรัพย์สินเพื่อนําเงินมาใช้สอยดํารงชีพตามปกติดังที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง ข้อเท็จริงกลับปรากฏว่าการขายทรัพย์สินตามคําร้องทั้งหมดต่างได้กระทําในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ร้องได้ชี้มูลกรณีกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดําเนินการร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งหากไม่อาจบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นได้ ทั้งหมดหรือได้แต่บางส่วนก็บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ แสดงให้เห็นถึงข้อพิรุธว่า ผู้ถูกกล่าวหาจําหน่ายจ่ายโอนหรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกบังคับคดี โดยนางสาวจันทร์จิรา สุวรรณเสน ผู้รับมอบอํานาจจากผู้ถูกกล่าวหาและนายวิชัยในการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสองคันก็ให้ถ้อยคําในชั้นไต่สวนว่า ไม่เคยรู้จักนายวิชัยมาก่อน และไม่ทราบ เกี่ยวกับการชําระราคารถยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่นายวิชัยจะมอบหมายให้นางสาวจันทร์จิราเป็นตัวแทนรับโอนรถยนต์ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกัน ยิ่งทําให้ไม่น่าเชื่อว่าจะมีเจตนาซื้อขายกันอย่างแท้จริงดังนี้

นอกจากคําเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาและนางดวงสุดาคู่สมรสเองแล้ว ทางไต่สวนไม่ปรากฏหลักฐาน ที่น่าเชื่อถืออื่นใด จึงฟังได้ว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาโอนที่ดินและรถยนต์ให้นายวิชัยดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน ไม่มีเจตนาผูกพันกันจริง พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาโอนที่ดินและรถยนต์ดังกล่าวเพื่อยักย้ายหรือซุกซ่อนทรัพย์สินหรือให้มีการถือครองทรัพย์สินแทน

@ โอนโฉนด 4 แปลงให้แม่ยายวัย 85 ปีอ้างขาย 1.3 ล. ขาดหลักฐานทางการเงินรองรับ

ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 61245 ตําบลแม่ยาว อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ที่ดินโฉนดเลขที่ 79245 ตําบลในเมือง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ที่ดินโฉนดเลขที่ 6715 ตําบลเชียงดาว อําเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินโฉนดเลขที่ 1797 ตําบลหนองผึ้ง อําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จ ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าขายให้นางมาลี แสนกลาง มารดาคู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา ในราคารวมทั้งสิ้น 1,300,000 บาท นั้น

เห็นว่า ตามทางไต่สวนไม่ปรากฏหลักฐานที่น่าเชื่อว่านางมาลีมีรายได้หรือเงินเพียงพอที่จะนํามาชําระราคาค่าซื้อทรัพย์สินดังกล่าว โดยปรากฏจากที่ผู้ร้องได้ทําการตรวจสอบบัญชีธนาคารของนางมาลีทั้งหมด 8 บัญชี มียอดเงินฝาก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 รวมทั้งสิ้น 359,505.87 บาท เท่านั้น และ ไม่พบว่ามีการเบิกถอนเงินฝากในช่วงที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 แปลง แต่อย่างใด ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า นางมาลีมีอาชีพค้าขายหมูยอและสินค้าอื่นหลายอย่างนั้น ก็ไม่อาจแยกแยะ รายการได้ชัดเจนเนื่องจากไม่มีหลักฐานเอกสารหรือบัญชีพอที่จะตรวจสอบเงินลงทุนหรือกําไรจาก การค้าขายแต่ละคราวว่ามีจํานวนมากน้อยเพียงใด ทั้งยังไม่มีหลักฐานแสดงความเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากที่จะแสดงให้เห็นรายได้และเงินเก็บสะสมจํานวนมากจากการค้าขายดังที่อ้าง ที่ผู้ถูกกล่าวหา อ้างว่า นางมาลีเก็บเงินสดไว้ที่บ้านจํานวนมากนับล้านบาทนั้น ก็เป็นการง่ายแก่การกล่าวอ้างเพราะอยู่ในความรู้เห็นของนางมาลีเองเท่านั้นจึงยากที่จะรับฟัง ทั้งไม่เชื่อว่านางมาลีจะเก็บเงินจํานวนมากนับล้านบาทในลักษณะที่ไม่มีความปลอดภัยและขาดประโยชน์อันควรได้จากดอกเบี้ย เพราะนางมาลีเองก็มีบัญชีเงินฝากธนาคารมากถึง 8 บัญชี ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเงินที่นํามาซื้อ แคชเชียร์เช็คที่อ้างว่าชําระราคาค่าที่ดินตามเอกสารหมาย ค.5 ถึง ค.8 นั้นมีที่มาอย่างไร ทั้งก็ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้มีการเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของผู้ถูกกล่าวหา ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหา จึงเลื่อนลอยขาดหลักฐานเชื่อมโยงให้เชื่อว่าเป็นความจริง นอกจากนี้ยังได้ความว่า นางมาลีมีอายุ มากถึง 85 ปี ป่วยมานาน มีอาการหลงลืม ชอบพูดซ้ำ ๆ เป็นโรคอัลไซเมอร์ ต้องเข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลด้วยโรคชราอยู่เป็นประจํา ทําให้ไม่น่าเชื่อว่านางมาลีมีเจตนาซื้อที่ดินทั้ง 4 แปลง เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนเองอย่างแท้จริง ประกอบกับไม่ปรากฏว่านางมาลีได้เข้าครอบครองหรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินที่อ้างว่าซื้อมานั้นแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าการโอนที่ดินทั้ง 4 แปลงนี้เป็น การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน

@ โฉนด 3 แปลงโอนให้หลานเมีย 3 คน นิติกรรมอำพราง

ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 88670 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ที่ นางดวงสุดา คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหาขายให้นายเกรียงศักดิ์ แสนกลาง ที่ดินโฉนดเลขที่ 88671 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ที่นางดวงสุดาขายให้นางสาวกมลวรรณ แสนกลาง และที่ดินโฉนดเลขที่ 88673 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ที่นางดวงสุดาขายให้ นายพันธมิตร แสนกลาง นั้น

เห็นว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลงนี้ ล้วนแต่เกี่ยวพันเป็นหลานของนางดวงสุดาทั้งสิ้น ย่อมมีเหตุที่จะช่วยเหลือกันตามวิสัยญาติ ทั้งได้มีการจดทะเบียนโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลง พร้อมกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ในราคาเท่ากันคือแปลงละ 100,000 บาท จึงเห็นได้ว่าเป็นการเร่งรีบขายทรัพย์สินในวันเดียวกันในลักษณะที่มุ่งจะหลีกเลี่ยงการบังคับคดีเช่นเดียวกับทรัพย์สินอื่นที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว นอกจากนั้น ผู้ถูกกล่าวหามิได้นําผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินรวมทั้งนายเกริกเกียรติที่อ้างว่าออกเงินซื้อที่ดินให้นายเกรียงศักดิ์มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งที่บุคคลเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันเป็นญาติกับคู่สมรสของผู้ถูกล่าวหาเองทั้งนั้น ข้อเท็จจริง ปรากฏจากที่ผู้ร้องได้ทําการตรวจสอบยอดเงินฝากบัญชีธนาคาร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 นางสาวกมลวรรณมีเงินฝากทั้งหมด 8 บัญชี รวมเป็นเงิน 149,882.13 บาท นายพันธมิตรมีเงิน ฝากทั้งหมด 5 บัญชี มีเงินคงเหลือเพียง 21,792.40 บาท เท่านั้น โดยไม่พบว่าฝ่ายผู้ซื้อได้เบิกถอน เงินฝากธนาคารในช่วงที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเงินที่นํามาซื้อ แคชเชียร์เช็คที่อ้างว่าชําระราคาค่าที่ดินตามเอกสารหมาย ค.9 ถึง ค.11 นั้นมีที่มาจากรายได้ในทางใด ข้อนําสืบเกี่ยวกับรายได้ส่วนตัวของผู้ซื้อก็เลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ละแปลงได้กระทําการใดอันแสดงออกให้เห็นว่ามีเจตนาเข้าครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อมาในฐานะเจ้าของที่ดินนั้นแล้ว แม้ต่อมานางสาวกมลวรรณจะขายที่ดินนั้นให้นายวรพล วาสนาธาดากุล แต่นายวรพลก็อยู่กินกับนางพรกมล แสนกลาง มารดานางสาวกมลวรรณ จึงมิใช่เป็นการขายที่ดินให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีความเกี่ยวพันอันใดกับผู้ถูกกล่าวหา พฤติการณ์จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าการจําหน่ายจ่ายโอนที่ดินทั้ง 3 แปลงนี้ เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน เพื่อปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีเจตนาให้ผูกพันกันจริง

@ สรุป ปกปิด ที่ดิน 10 แปลง บ้าน 2 หลัง รถยนต์ 2 คัน

จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยข้างต้น พยานหลักฐานตามการไต่สวนจึงฟังได้ว่า ที่ดินทั้ง 7 แปลง โฉนดเลขที่ 59128 และเลขที่ 59129 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โฉนดเลขที่ 65984 ตําบลสันผักหวาน อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในชื่อของนายวิชัย นิมมลรัตน์ โฉนดเลขที่ 59129 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โฉนดเลขที่61245 ตําบลแม่ยาว อําเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โฉนดเลขที่ 79245 ตําบลในเมือง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน โฉนดเลขที่ 6715 ตําบลเชียงดาว อําเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โฉนดเลขที่ 1797 ตําบลหนองผึ้ง อําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในชื่อของนางมาลี แสนกลาง และสิ่งปลูกสร้าง 2 หลัง เลขที่ 129/171 ตําบลป่าแดด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 59129 และบ้านไม้ชั้นเดียวไม่มีเลขที่ ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนด เลขที่ 1797 รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ หมายเลขทะเบียน กธ 7000 เชียงใหม่ และรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า เล็กซัส หมายเลขทะเบียน กบ 8888 เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในชื่อของนายวิชัย เป็นทรัพย์สิน ของผู้ถูกกล่าวหา ที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ส่วนที่ดิน 3 แปลง โฉนดเลขที่ 88670 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อนายเกรียงศักดิ์ แสนกลาง โฉนดเลขที่ 88671 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อ นายวรพล วาสนาธาดากุล โฉนดเลขที่ 88673 ตําบลเวียงยอง อําเภอเมืองลําพูน จังหวัดลําพูน ซึ่งอยู่ในชื่อนายพันธมิตร แสนกลาง เป็นของนางดวงสุดา คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา ที่มอบหมายให้อยู่ใน ความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น โดยมีเจตนาลวงเพื่อปกปิดมิให้มีการบังคับคดีเอาแก่ ทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกล่าวของตนและคู่สมรส เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่แสดงรายการทรัพย์สินในส่วนนี้ไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 แม้ก่อนหน้านั้นผู้ถูกกล่าวหาเคยแสดงรายการทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ในบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 กรณีพ้นจากตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 มาแล้วก็ตาม แต่จากพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาลวงโดยสมรู้กันเพื่อปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สินของ ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสดังวินิจฉัยแล้วข้างต้น ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาพยายามที่จะปกปิด ความมีอยู่ของทรัพย์สินตลอดจนที่มาของทรัพย์นั้นด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการบังคับคดีเอาแก่ ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ ถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนา ไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114, 167 จึงฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องโดยปกปิดข้อเท็จจริงที่ ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

@ หุ้น บ.แอสคอนฯ 72 ล. โอนให้แม่ถือแทนด้วย

ส่วนคําร้องของผู้ร้องที่อ้างว่าผู้ถูกกล่าวจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องโดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) นั้น เห็นควรวินิจฉัยข้อโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหาก่อนว่า ประเด็นนี้เป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ กับคดีอาญาหมายเลขดําที่ อม. 64/2559 หมายเลขแดงที่ อม. 43/2560 ของศาลฎีกาแผนก คดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึ่งถึงที่สุดแล้วหรือไม่

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก เห็นว่า ตามคําพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดําที่ อม. 64/2559 หมายเลขแดงที่ อม. 43/2560 เป็นกรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตําแหน่งและกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดํารงตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กรณีเข้ารับตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่ง และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการ ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรณีเข้ารับตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนคดีนี้คงมีประเด็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่หรือไม่อันเป็นการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินคนละคราวกันกับที่ศาลได้มีคําพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดําที่อม. 64/2559 หมายเลขแดงที่ อม. 43/2560 จึงสามารถแยกเจตนาและการกระทําในแต่ละวาระออกต่างหากจากกันได้ คําร้องของผู้ร้องคดีนี้จึงมิใช่เป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกันในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดและถึงที่สุดแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม และสิทธิในการยื่นคําร้องของผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวไม่เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม ผู้ร้องย่อมมีอํานาจแยกยื่นคําร้องเป็นคนละคดีได้โดยไม่เป็นการยื่นคําร้องซ้ำ ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฏจากคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อม. 64/2559 หมายเลขแดงที่ อม. 43/2560 ว่า นางดวงสุดาทําสัญญากู้ยืมจากนางบุญทอง สุภารังสี มารดาผู้ถูกกล่าวหา เป็นเงิน จํานวน 72 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) โดยเป็นการแสดงเจตนาลวง และการโอนหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ให้นางบุญทอง เป็นการให้นางบุญทองถือครองทรัพย์สินแทน โดยคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหามิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และตามพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินนั้นในกรณีไม่แสดงหุ้นในบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ดังกล่าวเช่นกัน

@ ฟันฉับ ห้ามดำรงตำแหน่งการเมือง 5 ปี จำคุก 2 เดือน

อนึ่ง แม้ภายหลังการกระทําความผิด ได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทําความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทําตามคําร้องเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําผิด บังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ดี องค์ประกอบของความผิดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่ว่าจะต้องมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินนั้น เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหามากกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องนําพฤติการณ์ดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ส่วนมาตรการจํากัดสิทธิทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ไม่เป็นคุณ จึงต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 บังคับแก่คดีนี้ มีผลห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งตาม มาตรา 34 วรรคสอง นอกจากนี้ การกระทําของผู้ถูกกล่าวหายังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด ตาม มาตรา 119 ด้วย

พิพากษาว่า นายเกษม นิมมลรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32 และมาตรา 33 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง กับมีความผิด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทําความผิด องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นควรลงโทษจําคุก 2 เดือน คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

.จากคำพิพากษา เห็นได้ว่า นายเกษมได้อำพรางการถือครองทรัพย์สิน โดยโอนให้ตัวแทน(นอมินี) ซึ่งเป็นน้องชาย แม่ภรรยา หลานภรรยา และแม่ ประมาณ 6 คน ถือครองทรัพย์สินแทน