นายโกตาบายา เดินทาออกจากศรีลังกาไปยังมัลดีฟส์ด้วยเครื่องบินทหารเมื่อวันที่ 13 ก.ค. หลังการลุกฮือของประชาชนที่ออกมาประท้วงขับไล่ เพราะล้มเหลวกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อข่าวการลี้ภัยของประธานาธิบดีศรีลังกาแพร่กระจายออกไป กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหลายหมื่นที่จุดใหญ่ใจกลางกรุงโคลัมโบต่างพากันเฉลิมฉลอง หลังจากมารวมตัวกันเพื่อรอการลาออกของนายโกตาบายา
เชื่อว่านายโกตาบายาต้องการเดินทางออกจากศรีลังกาก่อนประกาศลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะถูกจับกุมจากคณะผู้ปกครองชุดใหม่ ทั้งนี้ นายโกตาบายาถึงสิงคโปร์เมื่อเช้าวันพฤหัส โดยมีรายงานว่าเขาเดินทางมาพร้อมกับภรรยาและบอดี้การ์ด 2 คน
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า นายโกตาบายาไม่ได้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด พร้อมบอกว่าโดยทั่วไปแล้วสิงคโปร์ไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ใด
สถานการณ์ล่าสุดในศรีลังกา หลังจากที่นายโกตาบายาหลบหนีออกนอกประเทศ นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีของศรีลังกา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการประธานาธิบดี แต่การตัดสินใจดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงเพิ่มเติมและเรียกร้องให้เขาลาออกด้วย การประท้วงบริเวณนอกทำเนียบนายกรัฐมนตรีและผู้ที่อยู่นอกรัฐสภาตั้งแต่เย็นวันที่ 13 ก.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 84 คน จากการที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม
จดหมายลาออกของนายโกตาบายา ถูกส่งทางอีเมลถึงโฆษกรัฐสภาศรีลังกา ซึ่งให้ข้อมูลว่ากระบวนการลาออกของนายโกตาบายาจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์และถูกประกาศอย่างเป็นทางการในวันนี้ (15 ก.ค.) ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าสถานะของนายโกาตาบายาเป็นอย่างไรกันแน่น
“ก่อนหน้านี้เขาหลอกพวกเราว่าด้วยการพูดว่าเขาจะไป มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พวกเขาได้รับจดหมายลาออกแต่โฆษกกลับบอกว่าต้องทำให้มีผลทางกฎหมายอีก ผมไม่รู้ว่าการพูดแบบนี้มันหมายความว่าเช่นไร ดังนั้น มันจึงบ้าบอมาก” ชาวศรีลังกาที่เฉลิมฉลองการลาออกของนายโกตาบายา กล่าว
สถานการณ์การชุมนุมล่าสุด กลุ่มผู้ชุมนุมลดจำนวนลงกว่าวันที่ผ่านมา เนื่องจาก นายรานิล วิกรมสิงเห ประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวเป็นคืนที่สองเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม ท้องถนนในกรุงโคลัมโบเงียบสงบลงกว่าเดิมในคืนวานนี้ โดยผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเริ่มทยอยออกจากอาคารสถานที่ราชการที่เข้าไปยึดครองแล้ว
“พวกเราค่อย ๆ ถอนออกจากทำเนียบประธานาธิบดี ที่ทำการเลขาธิการประธานาธิบดี และทำเนียบนายกรัฐมนตรีอย่างสันติแล้วโดยมีผลในทันที” โฆษกหญิงของผู้ชุมนุมระบุ
เหตุชุมนุมประท้วงบริเวณนอกทำเนียบนายกรัฐมนตรีและผู้ที่อยู่นอกรัฐสภาในช่วงเย็นของวันที่ผ่านมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บจากการเข้าสลายการชุมนุมหลายราย
ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงที่พยายามจะพังประตูทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงโคลัมโบ ก่อนเข้าไปข้างในได้ในที่สุด หลังจากนั้นพวกเขาก็ร่วมกันเดินขบวนไปที่รัฐสภา
โฆษกกองทัพบอกกับสำนักข่าวบีบีซีว่า มีทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บด้วย และกล่าวหาว่าผู้ประท้วงขโมยปืนไรเฟิลจู่โจมพร้อมกระสุนปืนและยังไม่ได้รับอาวุธเหล่านี้คืน
ล่าสุด ในช่วงเช้าของวันนี้ (14 ก.ค.) รัฐบาลศรีลังการะบุในถ้อยแถลงว่า มีการออกประกาศเคอร์ฟิวใหม่ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 12.00 น. ในวันนี้ จนถึง 05.00 น. ของวันศุกร์ (15 ก.ค.)
การประท้วงเกิดขึ้นในขณะที่ศรีลังกาประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
นายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา ออกคำสั่งให้กองทัพดำเนินการ “ทุกวิถีทางตามความจำเป็นเพื่อนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย” หลังผู้ประท้วงบุกเข้าไปในสำนักงานของเขาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
นายวิกรมสิงเหได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนหน้านี้
แต่การตัดสินใจให้เขาดำรงตำแหน่งนั้นก่อให้เกิดการประท้วงขึ้นอีก เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งไปด้วย ตามที่เคยสัญญาไว้
ศรีลังกากำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ประชาชนจำนวนมากตำหนิรัฐบาลของราชปักษาว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตนี้ และมองว่านายวิกรมสิงเห ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน พ.ค. เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้ประท้วงบุกเข้าไปในอาคารของรัฐที่มีความปลอดภัยสูง เป็นครั้งที่สองในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ และครั้งล่าสุดนี้เป็นการบุกเข้าไปในสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้คนที่บุกเข้าไปในสำนักงานของนายกรัฐมนตรีได้นั่งพักผ่อนบนโซฟาอันนุ่มสบายและถ่ายรูป ขณะที่คนอื่น ๆ ยืนบนเก้าอี้และโต๊ะทำงานของนายกฯ พร้อมโบกธงชาติศรีลังกา
ในการกล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ นายวิกรมสิงเห เรียกร้องให้ผู้ประท้วงออกจากสำนักงานของเขา และอาคารของรัฐอื่น ๆ ที่ถูกยึดครอง และขอให้ร่วมมือกับทางการ
“เราไม่สามารถฉีกรัฐธรรมนูญของเราได้ เราไม่สามารถปล่อยให้พวกฟาสซิสต์เข้ายึดครองได้ เราต้องยุติการคุกคามของลัทธิฟาสซิสต์ต่อระบอบประชาธิปไตย” เขากล่าว
แต่เมื่อถูกถามว่าคำแถลงของนายกรัฐมนตรีเป็นข้อบ่งชี้ว่ากองทัพอาจเข้าควบคุมหรือไม่ ภวานิ ฟนเซกา นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนในกรุงโคลัมโบ บอกกับ รายการ World at One ของสถานีโทรทัศน์บีบีซีว่าศรีลังกา “ไม่เคยมีประวัติที่ทหารมีบทบาทอย่างแข็งขันในด้านการเมืองหรือการปกครอง ไม่เหมือนประเทศอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง”
“เรามีประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งมาก และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนในบทบาทนั้น แต่เราก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นทุกสิ่งจึงเป็นไปได้” เธอกล่าวเสริม
นอกทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา เทซซา หว่อง ผู้สื่อข่าวของบีบีซีรายงานว่า ทหารติดอาวุธยืนดูผู้ประท้วงเฉลิมฉลองภายในสำนักงานด้วยความชื่นชม และผู้ชุมนุมก็เพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีให้ทุกคนต้องออกจากบริเวณสำนักนายกรัฐมนตรี
“เป้าหมายของเราคือให้โกตา รานิล และสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนอื่น ๆ กลับบ้านไป” นิกซัน จันทรานาธาน ผู้ประท้วงที่สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี “เราต้องการผู้นำที่ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาในการสร้างศรีลังกาให้กลับมาในตอนนี้”
“เรารู้สึกภาคภูมิใจ” สาทิช บี นักธุรกิจที่มาร่วมเยี่ยมชมสถานที่นี้หลังจากถูกผู้ชุมนุมบุก บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี “ไม่มีธรรมาภิบาลในประเทศนี้ มันไม่เคยดีเลย…กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปแบบนี้”
เหตุการณ์ความไม่สงบยังคงมีขึ้นเมื่อมีข่าวว่าประธานาธิบดีราชปักษาลี้ภัยหนีไปมัลดีฟส์แล้ว หลังก่อนหน้านี้ อยู่ในช่วงการหลบหนีไปซ่อนตัว แต่ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลาออก หลังผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดบ้านพักประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (9 ก.ค.)
ผู้นำประเทศได้รับการยกเว้นจากการถูกฟ้องร้องในฐานะประธานาธิบดี โดยมีการเชื่อกันว่าเขาต้องการลี้ภัยไปต่างประเทศ ก่อนที่จะลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะถูกจับกุมโดยรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการ
การออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีอาจเสี่ยงก่อให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในศรีลังกา ซึ่งจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศให้หลุดพ้นจากหายนะทางการเงิน
นักการเมืองจากพรรคการเมืองอื่น ๆ กำลังพูดถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความเป็นเอกภาพชุดใหม่ แต่ยังไม่มีวี่แววว่าใกล้จะตกลงกันได้ และยังไม่ชัดเจนว่าประชาชนจะยอมรับในสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งทำให้การเลือกผู้นำคนใหม่ก็จะมีปัญหาเช่นกัน
ในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทีมงานของนายวิกรมสิงเหกล่าวว่า เขาได้ขอให้ประธานรัฐสภาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ “ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (11 ก.ค.) สาจิธ พรีมาดาสา ผู้นำฝ่ายค้านบอกกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เขามีแนวโน้มที่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เช่นเดียวกับนายวิกรมสิงเห เขาขาดการสนับสนุนจากสาธารณชน นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของศรีลังกายังมีความแคลงใจอย่างมากต่อตัวนักการเมืองของประเทศนี้อีกด้วย