เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #‘สังศิต’ พุ่งเป้าช่วยเกษตรกร!! ไม่ซูเอี๋ยนายทุนหลอกซื้อที่ดินชาวบ้าน

#‘สังศิต’ พุ่งเป้าช่วยเกษตรกร!! ไม่ซูเอี๋ยนายทุนหลอกซื้อที่ดินชาวบ้าน

31 July 2022
327   0

 

เรื่องมีอยู่ว่า…

มีราษฎรและต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์นิคมแม่ริม ครอบครองทำประโยชน์ ด้านการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ ๘,๒๔๗ – ๓ – ๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม ซึ่งกรมป่าไม้มอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรตามวิธีการสหกรณ์ ตามหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เล่มที่ ๗๙ ฉบับที่ ๔๘ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๒ สิ้นสุดการอนุญาตฯ ปี พ.ศ. ๒๕๗๒ รวมระยะเวลา ๓๐ ปี แต่พื้นที่ดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ เหลือเวลาอีก ๗ ปี ในการใช้ที่ดินทำกิน !!

มีราษฎรเข้าทำประโยชน์ ๕๕๘ ราย จำนวน ๕๙๒ แปลง รวมพื้นที่ ๘,๒๔๗ – ๓ – ๐๐ ไร่ ทำนา ๑๔๘ ราย ทำนาและปลูกผลไม้ ๕๑ ราย ปลูกผลไม้ ๒๐๗ ราย เลี้ยงไก่ ปลา ๘ ราย โคนม ๔ ราย

ปมเรื่องคือ นับตั้งแต่ราษฎรเข้าทำประโยชน์ใช้ที่ดินทำกินมาแล้ว ๒๓ ปี นับตั้งแต่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๒ เหลือ อีก ๗ ปีจะหมดอายุในปี ๒๕๗๒ แต่ยังไม่ได้อนุญาตหรือจัดที่ดินให้แก่ราษฎรตามวิธีการสหกรณ์ !!??

นายสามารถ อินทร์มา ประธานกรรมการสหกรณ์นิคมแม่ริม จำกัด ร้องเรียนมาที่ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ตามหนังสือท่ี สกน. ๐๑๗/๒๕๖๕ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ ‘เพื่อให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการ “จัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรตามวิธีการสหกรณ์” ตามใบอนุญาต ปส.๒๓ ของกรมป่าไม้ เล่มที่ ๗๙ ฉบับที่ ๔๘ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๒ สิ้นสุดการอนุญาต ๑๙ ธันวาคม ๒๕๗๒’

การจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรตามวิธีการสหกรณ์เป็นหัวใจสำคัญของสมาชิกสหกรณ์ฯ คือ หนังสือรับรองการทำประโชชน์ในที่ดินที่ได้รับจัดสรร ซึ่งจะนำไปสู่การขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการ ทําประโยชน์สำหรับที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นำเรื่องเข้าหารือในคราวประชุมผ่านระบบ Video Conferenc เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ เพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์นิคมแม่ริม กรณีการครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากกรมป่าไม้ โดยที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า เมื่อสมาชิกสหกรณ์นิคมแม่ริมมีความประสงค์จะนำเรื่องไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับสถานะของการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงยุติเรื่องไว้ก่อน

หลังจากนั้นสหกรณ์นิคมแม่ริมได้แจ้งว่าจะ ชะลอการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และขอให้คณะกรรมมาธิการฯช่วยดำเนินการให้ต่อไป

วันศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ประกอบด้วย ท่านอาจารย์นรมน โลไทยสงค์ ผศ. ชยุตภัฎ คำมูล และ ผศ.ดร.ธีระพล เสนพันธุ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์นิคมแม่ริม จำกัด กรณีการครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินตามวิธีการสหกรณ์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

นายโชคดี สรณ์วิโรจน์ ที่ปรึกษาสหกรณ์นิคมแม่ริม จำกัด ให้ข้อมูลเบื้องต้นต่อที่ประชุมว่า เดือนตุลาคม ๒๕๔๗ กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้เพื่อคืนพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ และมีราษฎรบุกรุกพื้นที่ จนวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับเรื่องที่กรมป่าไม้ทบทวนให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรตามวิธีการสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แต่งตั้งนายอำนวย ทับเลื่อน ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์แม่แตง เข้ามารับผิดชอบควบคุมดูแลนิคมสหกรณ์แม่ริม เมื่อ นายอำนวย ทับเลื่อน เกษียณอายุราชการไปเมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ได้แต่งตั้งใครมารับผิดชอบควบคุมดูแลนิคมสหกรณ์แม่ริมอีก

‘ผู้รักษาการสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่จึงแต่งตั้งให้ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์แม่แตงเข้ามาดูแลนิคมสหกรณ์แม่ริม แต่เนื่องจากเป็นคำสั่งระดับจังหวัดจึงทำให้ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์แม่แตงอ้างว่าไม่มีอำนาจเรื่องการจัดการการออกหนังสือรับรองให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมแม่ริม โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์’ นายโชคดีกล่าว

สหกรณ์นิคมแม่ริมได้มีหนังสือสอบถามกรมส่งเสริมสหกรณ์หลายครั้ง ได้รับคำตอบว่าอำนาจการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นอำนาจของกรมป่าไม้ และทางกรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างการหารือกับกรมป่าไม้ไปแล้วแต่กรมป่าไม้ยังไม่ตอบข้อหารือดังกล่าว

เมื่อทางสหกรณ์นิคมแม่ริม ได้หารือกับทางกรมป่าไม้เรื่องการอนุญาตเข้าทำประโยชน์อยู่อาศัยในพื้นที่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ทางกรมป่าไม้ได้มีหนังสือแจ้งการกระทำใดๆ ในพื้นที่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้นั้น เป็นอำนาจของกรมส่งเสริมสหกรณ์

ความสับสน ไม่ชัดเจนดังกล่าว ทำให้เกษตรกรที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามเงื่อนไขกฎเกณฑ์ของกฎหมาย (พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑) แล้วก็ตาม ทำให้สมาชิกสหกรณ์ ไม่มั่นใจความมั่นคงการมีที่ดินทำกินต่อไปในอนาคตหรือไม่ เมื่อสิ้นสุดสัญญาในปี ๒๕๗๒ !!?? เพราะจนบัดนี้ยังไม่มีการออกหนังสือรับรองให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมแม่ริมดังกล่าว ทั้งที่ลงทุน ปลูกพืช ทำนา สร้างบ้าน หวังตั้งหลักปักฐานไปแล้วก็ตาม

ลักษณะการครอบครองพบว่า การเข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน ตำบลสะลวง และพิริยะบลห้วยทราย ราษฎรเข้าถือใน ๒ ลักษณะคือ การครอบครองโดยการจับจองกันมาก่อน ๔๑๒ ราย และรับสิทธิจากชาวบ้าน ๑๔๖ ราย ประเด็นที่ต้องขยายความก็คือ ผู้รับสิทธิครอบครองต่อจากชาวบ้าน ๑๔๖ ราย หมายถึงคนกลุ่มใด? เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ?

เพื่อความชัดเจนในการแก้ปัญหา ให้พี่น้องสมาชิกสหกรณ์แม่ริม คณะกรรมาธิการฯ ได้แนะนำให้ทางสหกรณ์นิคมแม่ริมดำเนินการรวบรวมข้อมูล ดังนี้

๑) มีผู้ครอบครองเดิมเหลืออยู่จำนวนกี่คน กี่ครอบครัว และครอบครองพื้นที่เป็นจำนวนเท่าใดและได้ทำการเกษตรในพื้นที่หรือไม่

๒) บุตรหลานผู้ครอบครองเดิมมีจำนวนกี่คน กี่ครอบครัว และครอบครองพื้นที่เป็นจำนวนเท่าใดและ
ได้ทำการเกษตรในพื้นที่หรือไม่

๓) ผู้ที่เข้ามาครอบครองใหม่หรือมีการเปลี่ยนมือมีจำนวนกี่คน กี่ครอบครัว และครอบครองพื้นที่เป็นจำนวนเท่าใด และได้ทำการเกษตรในพื้นที่หรือไม่
ฐานข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาหรือหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ในอนาคตเมื่อได้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่แท้จริงแล้ว โดยประธานคณะกรรมาธิการได้มอบหมายให้นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ที่ปรึกษาอนุคณะกรรมาธิการด้านน้ำและที่ดินของคณะกรรมาธิการแก้จนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 เป็นผู้ประสานงานกับทางสหกรณ์นิคมแม่ริม จำกัด เกี่ยวกับการเก็บฐานข้อมูลดังกล่าว

หลังจากได้ฐานข้อมูลดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ยินดีให้ความร่วมมือในการหารือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจของสหกรณ์ต่อไป อาทิเช่น

๑. เรื่องการขอไฟฟ้าให้แก่สมาชิกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้

๒. เรื่องการรับรองคุณภาพของผลผลิตที่จะส่งไปประเทศญี่ปุ่น ที่ทางญี่ปุ่นต้องการให้ผลผลิตของสหกรณ์ได้รับการตรวจรับรองจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่กรุงเทพฯ

เรื่องนี้คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นไปตรวจสอบห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้คำยืนยันว่าคุณภาพในการตรวจสอบของแม่โจ้ อยู่ในระดับเดียวกันกับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๓. คณะกรรมาธิการฯ ยินดีให้การสนับสนุนที่จะส่งคณะไปศึกษาเพื่อให้คำแนะนำในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์แก่สหกรณ์ฯ ตามที่สหกรณ์ฯ ร้องขอ โดยที่สหกรณ์แจ้งให้ทราบว่าขณะนี้มีเกษตรกรที่ปลูกต้นโกโก้เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมากขึ้นกว่าเดิม

๔. คณะกรรมาธิการฯ ยินดีให้การสนับสนุนเรื่องการตลาดของสหกรณ์ฯ ตามที่ร้องขอ โดยคณะกรรมาธิการฯ จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสหกรณ์ฯ

ล่าสุดนายสังศิตเปิดเผยก่อนปิดประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันพุธที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ว่า หลังจากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ‘สิ่งที่ต้องรีบทำเร่งด่วน คือการขอเลขที่บ้านเพื่อนำไปสู่การขอไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ แต่จะไม่ยินยอมซูเอี๋ยกับนายทุน นักธุรกิจที่ไปหลอกซื้อที่ดินจากชาวบ้านและทำไม่ถูกกฎหมาย’

ประสบการณ์ที่ผมได้รับจากการลงไปแก้ปัญหาเรื่องที่ดินให้กับเกษตรกร ในช่วงที่ผ่านมา ผมพบว่าแต่ละ กรณีจะมีหน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินหลายหน่วยงาน และใช้เวลาในการบริหารจัดการหลายสิบปี แต่ยังไม่สามารถลุล่วงได้

ความทุกข์ของเกษตรกรในประเทศนี้มีอยู่มากมาย การแก้ปัญหาให้ตกไปหนึ่งกรณีก็มีประโยชน์ในการแก้ทุกข์ให้กับคนเป็นจำนวนมากได้ แต่จะดีกว่าถ้ามีการปฏิรูปโครงสร้าง (structure) และระบบ (System) ของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดหลักการในการปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐคือ

๑. ลดขั้นตอน ในการทำงานของภาครัฐให้สั้นลง

๒. ยึดถือหลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้

๓. ยึดถือหลักความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

๔. ควบคุมการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ

ณ เวลานี้ประเทศไทยต้องการผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์และมีความกล้าหาญ ทางด้านจริยธรรมที่จะปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามครับ

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕