เมื่อวันที่ 13 ส.ค.65 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล” ระบุว่า หน้าที่ ส.ส. / การทำพื้นที่ / การเมืองเครือข่ายอุปถัมภ์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่หลายประการ
ประการแรก เสนอ พิจารณา และลงมติให้ความเห็นชอบ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และอนุมัติพระราชกำหนด
สูตรโกงอายุ! ที่เซเลบคนดังเลือกใช้เยอะมากกก
DEVONTE สกินแคร์สำหรับผู้ชาย
ประการที่สอง ลงมติเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ประการที่สาม ตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านกลไกต่างๆ ของรัฐสภา เช่น การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญ
ประการที่สี่ เป็นผู้แทนของประชาชน นำปัญหาของประชาชนมาอภิปรายในสภา ผลักดันเป็นกฎหมาย หรือเสนอแนะฝ่ายบริหาร
ประการที่ห้า อำนาจหน้าที่อื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้กระทำในนามของสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา เช่น รับทราบรายงานประจำปีขององค์กรต่างๆ ให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่ง ประกาศสงคราม รับทราบการขึ้นครองราชย์ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ในระบบรัฐสภาแล้วบทบาทของ ส.ส. คือ งานเกี่ยวกับการตรากฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรี และการควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร
เมื่อพิจารณาบทบาทและภารกิจของ ส.ส.เช่นนี้แล้ว การตัดสินใจเลือก ส.ส. ก็น่าจะพิจารณาเลือกคนไปเป็น “ผู้แทน” ในการตรากฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรี และการควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นสำคัญ
มีสินค้าแต่ไม่รู้จะขายที่ไหน มาขายเลยที่ Lazada เปิดร้านเลย!
LAZADA Seller
เช่นเดียวกัน ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองต้นสังกัด ก็ควรรณรงค์และนำเสนอแนวนโยบายของตนและพรรคเกี่ยวกับการตรากฎหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรี และการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่เหตุใดการเมืองไทย ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนจึงเลือก “ผู้แทนราษฎร” โดยพิจารณาจากการดูแลประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้ง? เหตุใดประชาชนจึงเรียกร้องหรือขอการช่วยเหลือสนับสนุนจาก ส.ส.ในเขตเลือกตั้งตนหรือผู้สมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งตน?
ทั้งๆ ที่การดูแลประชาชน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือ อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ของรัฐมนตรี ข้าราชการ และนายกฯท้องถิ่น พวกเขาเหล่านี้มีทั้งอำนาจตามกฎหมาย มีทั้งบุคลากร มีทั้งงบประมาณ ในขณะที่ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย สั่งการข้าราชการก็ไม่ได้ งบประมาณก็ไม่มี
ยิ่งไปกว่านั้น หาก ส.ส.คนใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ ก็อาจต้องรับโทษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อีกด้วย เช่นเดียวกัน เหตุใด ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่างก็แข่งขันกันสร้างผลงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเอาการเอางาน ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย? แล้วในการแข่งขันเช่นว่านี้ มีบ้างหรือไม่ที่ช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว โดนไม่คาดหวังว่าประชาชนจะเลือกตนเป็น ส.ส.? มีใครที่พร้อมเป็น “นักบุญ” ช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ได้ต้องการการตอบแทนเป็น “คะแนนเสียง”?
ปัญหาดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเหตุต้นตอ 2 ประการ
ประการแรก รัฐบาลไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนได้ถ้วนทั่ว การเรียกร้องเอากับรัฐบาล รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการประจำ เป็นเรื่องยากลำบาก มีอุปสรรค และพวกนี้อยู่ไกลประชาชน ทำให้ประชาชนเรียกหาคนที่ใกล้เขาที่สุด นั่นคือ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งตนเอง
ประการที่สอง การไม่กระจายอำนาจ/งบ ให้กับท้องถิ่นมากเพียงพอต่อการจัดการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนได้ดีเพียงพอ ประชาชนจำต้องพึ่งพิงและเรียกร้องเอากับ ส.ส. ที่เป็น “ผู้แทน”ของเขาในเขตพื้นที่
เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ปฏิเสธไม่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้งตนได้หรือไม่?
แน่นอนว่า ไม่มีกฎหมายที่ไหนมาบังคับให้ ส.ส.ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้ง (เพราะอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และบุคลากรเป็นของรัฐบาล) แต่คงไม่มี ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส.คนใดกล้าปฏิเสธไม่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้ง เพราะ หากไม่ช่วยเหลือ ก็เสี่ยงที่จะ “สอบตก” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ในขณะที่ประชาชนก็รู้สึกว่านี่คือ “ผู้แทน” ที่พวกเขาเลือกมา นี่คือ “ผู้แทน” ในพื้นที่บ้านของพวกเขา และใกล้ชิดกับพวกเขามากที่สุด ก็ต้องเรียกหาเรียกใช้ได้ นี่จึงเป็นที่มาที่ ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส. ต้องทำในสิ่งที่แวดวงการเมืองการเลือกตั้งเรียกกันว่า “การทำพื้นที่”
ปัญหาที่ต้องขบคิดกันต่อไป ก็คือ “การทำพื้นที่” ต้องใช้เงิน ใช้ทรัพยากร เพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ในการหาโอกาสเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดประชาชน เริ่มตั้งแต่ ทำบุญใส่ซองในงานบวช งานแต่ง งานศพ จัดหาน้ำดื่ม อาหาร โต๊ะ เก้าอี้ หลังคาผ้าใบ เต๊นท์ ในงานประเพณีต่างๆ
ฉีดยาฆ่ายุงลาย ทำหมันหมา
ตัดผมฟรี ตัดแว่นฟรี
ตรวจโควิดฟรี หาช่องทางให้ได้วัคซีน หารถพยาบาลนำส่ง
ถุงยังชีพ ในยามประสบภัยพิบัติ
ฝากลูกเข้าโรงเรียน / ฝากเพื่อนสนิทมิตรสหายในเครือข่ายการเมืองในพื้นที่เลือกตั้งได้เลื่อนขั้น
วิ่งเต้น (เรียกให้ดูดี คือ ประสานงาน) กับรัฐมนตรีหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เอางบประมาณ เอาโครงการ มาในพื้นที่เลือกตั้งของตน ไม่มีสนามบิน ก็เอาสนามบินมาลง ไม่มีถนน ก็เอาถนนมาลง เป็นต้น
ฯลฯ
แล้ว ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.จะหางบประมาณมาช่วยจากไหน? เอาเงินจากไหนมาซื้อของแจกหรือจัดทำบริการฟรีให้ประชาชน? เอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าน้ำมันรถ? เอาเงินจากไหนมาจ่ายให้ทีมงานที่รับหน้าที่ดูแลประชาชน?
ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส.จะ “วิ่งเต้น” กับรัฐมนตรีอย่างไร เพื่อให้รัฐมนตรีนำงบประมาณและโครงการมาลงในพื้นที่? หาก ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. สังกัดพรรคฝ่ายค้านล่ะ จะทำอย่างไรถึงจะ “วิ่งเตัน” กับรัฐมนตรีได้?
ทั้งหมดนี้ นำมาซึ่งการก่อสร้างการเมืองเครือข่ายอุปถัมภ์
ที่เรียกกันว่า “บ้านใหญ่ประจำจังหวัด” หรือ “ตระกูลการเมือง” ก็มีต้นกำเนิดมาจากเรื่องเหล่านี้
เมื่อ ส.ส. หรือ ผู้สมัคร ส.ส. ต้องการเงินและทรัพยากรใน “การทำพื้นที่” แต่ละเดือนๆ เงินเดือน ส.ส.ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้แน่นอน แล้วจะทำอย่างไร? ถ้าผู้สมัคร ส.ส.หรือ ส.ส.คนนั้น มีสถานะทางเศรษฐกิจดี มีธุรกิจ มีมรดกตกทอด มาจากครอบครัวเศรษฐี ก็สามารควักเงินตนเองได้ แต่ถ้าไม่มีล่ะ?
ผู้มีทุนผู้มั่งมีก็จะเข้ามา เสนอซื้อ เสนอให้ ลงทุนให้ จ่ายรายเดือนให้แก่ ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส. ไม่ก็ ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส.ก็วิ่งเร่ขาย หา “มุ้ง” สังกัด โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การลงทุนฟรีๆ ไม่มี ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับการที่ ส.ส.ผู้สมัคร ส.ส.นั้นๆ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของเขา หรือที่เรียกกันว่า “มุ้ง”
ผู้มีทุนผู้มั่งมีสร้าง “มุ้ง” กักตุนจำนวน ส.ส.ในสังกัด เมื่อครบจำนวน ก็นำไปแลกเป็นรัฐมนตรี มุ้งตนเองได้ ส.ส.มากเท่าไร ก็มีพวกของตนไปเป็นรัฐมนตรีมากเท่านั้น มุ่งตนเองได้ ส.ส.มากเท่าไร ก็แลกเอากระทรวงเกรดเอที่มีงบประมาณมหาศาลได้มากเท่านั้น
เมื่อ “ผู้ลงทุน” “หัวหน้ามุ้ง” “ลูกพี่” ได้ไปเป็นรัฐมนตรี ก็ตามมาด้วยการหาเงินคืนทุนที่จ่ายไป ทุจริตคอร์รัปชัน หัวคิว/เงินทอนจากโครงการต่างๆ จึงเกิดขึ้น ให้สัมปทานโครงการต่างๆ แก่บริษัทพรรคพวกของตนเอง ถ้าสัญญาใกล้หมด ก็ต่อสัญญาให้ชนิดที่รัฐเสียเปรียบ นอกจากนั้น ก็ยังออกนโยบายเอาโครงการประเภท “สร้าง/ซ่อม/ขุด/กลบ” ไปไว้ยังพื้นที่ของตน
.
ในท้ายที่สุด ปัญหานี้ก็พัลวันกันเป็นงูกินหาง
ประชาชนลำบาก
ไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน
รัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถ้วนทั่ว
ประชาชนเรียกร้อง ส.ส. / ส.ส.ทำให้ประชาชน
ส.ส.วิ่งหาเงิน ทรัพยากร อำนาจ
เกิดมุ้ง เครือข่าย ลงทุนเพื่อเก็บจำนวน ส.ส.แลก รมต.
ตามมาด้วยคอร์รัปชัน เงินทอน
อิทธิพลฝังราก แผ่ขยายยึดจังหวัด หลายๆ จังหวัด เกิดเป็นเครือข่ายสืบทอดต่อๆ ไป
คนใหม่อยากเข้ามาการเมือง ก็ต้องวิ่งเข้าหามุ้ง หรือฝึกวิชาให้กล้าแกร่งจนตั้งตนเป็นหัวหน้ามุ้งเอง
การเมืองเรื่องของ “การทำพื้นที่” และการเมืองระบบเครือข่ายอุปถัมภ์แบบนี้ ทำให้เราได้ ส.ส.แบบไหน?
คนใหม่ในทางการเมืองที่มีความคิดดี มีความตั้งใจ อุดมการณ์เต็มเปี่ยม แต่บ้านไม่รวย จะทำอย่างไร?
เราจะไม่ได้ ส.ส.ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงประเด็น แต่เราจะได้ ส.ส.ที่ชำนาญในการวิ่งหางบ หาโครงการมาลงพื้นที่ของตน วิ่งหาเงินทองมาเป็น “น้ำมันหล่อลื่น” ใน “การทำพื้นที่”
เราจะไม่ได้ ส.ส.ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นพรรคตามแนวคิด แนวนโยบาย แต่เราจะได้ ส.ส.ที่เร่หาสังกัดมุ้ง ตามแต่ผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับ เราจะได้ ส.ส.ที่ย้ายพรรคแทบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง
เราจะไม่ได้ ส.ส.ที่ตัดสินใจลงมติจากจิตสำนึก ความคิด ความเชื่อ และแนวนโยบายของพรรคที่ตนสังกัด แต่เราจะได้ ส.ส.ที่ ตัดสินใจตามที่หัวหน้าพรรค หัวหน้ามุ้ง สั่ง
เราจะไม่ได้ ส.ส.และพรรคการเมืองที่พร้อมยอมเป็นฝ่ายค้าน หากการร่วมรัฐบาลนั้นไม่ตรงกับแนวคิดอุดมการณ์ของพรรค แต่เราจะได้ ส.ส.และพรรคการเมืองที่พร้อมร่วมรัฐบาลตลอดเวลา เพราะ เป็นฝ่ายค้านแล้ว “อดอยากปากแห้ง”
การเรียกร้องให้ ส.ส. ลงทุนหาเงินมาช่วยเหลือประชาชน แจกของ บริการ หาโครงการมาลงในพื้นทีั ด้านหนึ่ง อาจเป็นช่องทางการช่วยเหลือประชาชน แต่อีกด้าน มันสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันกันสร้างการเมืองเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ การเมืองบ้านใหญ่ประจำจังหวัด
นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน นำไปสู่การแบ่งสรรปันส่วนงบประมาณแบบไม่เป็นธรรม นักการเมืองแย่งกันเอางบไปลงจังหวัดตนเอง จังหวัดไหนมี ส.ส.พรรคหนึ่ง ก็ได้รับการช่วยเหลือก่อน จังหวัดไหนไม่มี ก็ต้องทนไป
และทำให้ได้แต่นักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์ ได้แต่พรรคที้ไม่มีเฉดทางอุดมการณ์ ไม่มีเฉดขวา/ซ้าย อุรักษ์นิยม/ก้าวหน้า พรรคการเมืองแปลงสภาพกลายเป็น “ก๊วน” ส่งคนลงเลือกตั้ง เป็นที่ทางให้นักการเมืองวิ่งย้ายพรรคไปมาตามแต่การต่อรองเงินทอง
เราต้องการการเมืองไทยเช่นนี้หรือ?
หากไม่ต้องการ จะมีทางแก้อย่างไร?
ต้องรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งปรับพฤติกรรมการเลือกตั้ง ชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นหากใช้เกณฑ์การเลือกผู้สมัคร ส.ส.โดยพิจารณาว่าใคร “ทำพื้นที่” ได้ดี และโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.จากนโยบาย แนวคิด และต้องการให้พรรคใดเป็นรัฐบาลแทน แต่การปรับพฤติกรรมและปัจจัยการตัดสินใจเลือกตั้ง ก็เป็นการโยนภาระให้ประชาชนมากเกินไป และต้องใช้เวลา
ทางแก้ในเชิงระบบ ได้แก่
-กระจายอำนาจ งาน เงิน คน ไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เต็มรูปแบบ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ดูแลแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันให้กับพี่น้องประชาชน ให้เรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี สาธารณูปโภคพื้นฐาน บริการสาธารณะในพื้นที่ต่างๆ เป็นอำนาจของหน้าที่ของท้องถิ่นไป ส่วน ส.ส.ก็รับภารกิจการเมืองระดับประเทศ
-สร้างระบบสวัสดิการที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์หรือรอรับความช่วยเหลือจากนักการเมืองเพื่อเอาชีวิตให้รอดในแต่ละวัน
-เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นแบบสัดส่วน MMP แบบที่ใช้ในเยอรมนี เพื่อเปิดทางให้กับ ส.ส.หน้าใหม่ ส.ส.เชิงประเด็น ส.ส.ที่ไม่สันทัด “การทำพื้นที่” เข้ามามากขึ้น หากใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ใครชนะที่หนึ่ง ได้เป็น ส.ส. ทั้งหมด หรือมีสัดส่วน ส.ส.แบบนี้จำนวนมาก ก็จะทำให้การแข่งขัน “การทำพื้นที่” สูงมาก จนมี ส.ส. แบบทำพื้นที่ วิ่งหางบ วิ่งหาโครงการ เสียส่วนใหญ่ และนักการเมืองก็จะหันเหไปสร้างมุ้ง เก็บ ส.ส.แลกรัฐมนตรี
-กำหนดโควต้าผู้สมัครทั้งในเชิงประเด็น ความหลากหลายทางเพศ ไว้บางส่วน
-ให้ ส.ส.เป็นได้วาระเดียว หรือสองวาระ เพื่อมิให้ตำแหน่ง ส.ส.กลายเป็นการผูกขาด กลายเป็นสมบัติประจำตระกูล ประจำมุ้ง ประจำบ้านใหญ่ เมื่อเป็นได้วาระเดียวหรือสองวาระ การตัดสินใจของ ส.ส. ก็จะเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ต้องพะวงว่าครั้งหน้าจะได้เป็น ส.ส.อีกหรือไม่ จนต้องใช้ทุกวิถีทาง เพื่อทำให้ได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกในครั้งหน้า ตำแหน่ง ส.ส.ก็จะกลายเป็นงานการเมือง งานอาสา งานที่อยากผลักดันตามอุดมคติ มิใช่ อาชีพ ที่ต้องเป็นจนแก่ตาย มิใช่เป็นอาณาจักร มิใช่เป็นมรดกประจำตระกูลที่ส่งต่อให้คนในครอบครัวได้
เราต้องการ ส.ส.แบบใด เราต้องการการเมืองแบบใด ทั้งหมดนี้ ออกแบบได้
อยู่ที่เจตจำนงว่า เราต้องการ “ผู้แทนราษฏร” หรือ “ชนชั้นนำทางการเมือง”