คณะ ส.ว. และ ส.ส.อเมริกัน ท้าทายจีนอีกแล้ว โดยเดินทางไปถึงไต้หวันในวันอาทิตย์ (14 ส.ค.) เพื่อการเยือนเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งพวกเขาจะเข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ด้วย ถือเป็นคณะสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯชุดแรกซึ่งมาที่เกาะที่จีนถือเป็นมณฑลกบฏของตนแห่งนี้ เพียง 12 วันหลังการเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ซึ่งสร้างความเดือดาลให้แก่จีน และแสดงปฏิกิริยาด้วยการซ้อมรบครั้งใหญ่โตชนิดที่ไม่เคยกระทำมาก่อน
สถาบันอเมริกันในไต้หวัน (American Institute in Taiwan) ซึ่งคือสถานทูตสหรัฐฯประจำไทเป ในทางพฤตินัย แถลงว่า คณะผู้แทนชุดนี้ซึ่งมีจำนวน 5 คน นำโดย เอด มาร์คีย์ วุฒิสมาชิกจากพรรคแมสซาชูเซตส์ สังกัดพรรคเดโมแครต จะพบปะกับพวกผู้นำอาวุโสของไต้หวัน เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวัน ความมั่นคงในภูมิภาค การค้า การลงทุน และประเด็นปัญหาอื่นๆ ทั้งนี้ การเยือนไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของทริปเดินทางมายังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของพวกเขา
จีนตอบโต้การเยือนไทเปเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ของ เพโลซี ด้วยการยิงขีปนาวุธหลายลูกข้ามเกาะไต้หวัน รวมทั้งจัดส่งเรือรบและเครื่องบินรบเข้าไปในทะเลและน่านน้ำรอบๆ เกาะเป็นเวลาหลายวันหลังจากนั้น ทั้งนี้ รัฐบาลจีนคัดค้านการที่ไต้หวันมีการติดต่ออย่างเป็นทางการใดๆ กับพวกรัฐบาลต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้นำรัฐสภาระดับสูงอย่าง เพโลซี โดยมองว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของตน และเป็นการส่งเสริมยั่วยุกลุ่มเรียกร้องต้องการแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเปิดเผยในไต้หวัน
สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในไต้หวันได้เผยแพร่วิดีโอ แสดงให้เห็นเครื่องบินรัฐบาลสหรัฐฯ ลำหนึ่ง ร่อนลงจากที่สนามบินซงซาน ซึ่งเป็นสนามบินทหารตั้งอยู่บริเวณกลางกรุงไทเป เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.ของวันอาทิตย์ (14) ตามเวลาท้องถิ่น โดยไม่ระบุยืนยันว่ามีใครอยู่บนเครื่องบินบ้าง จากนั้นสถาบันอเมริกันจึงออกคำแถลงสั้นๆ ในเวลาต่อมา ภายหลังประกาศว่าคณะผู้แทนชุดนี้จะอยู่ในไต้หวันวันอาทิตย์ (14) และวันจันทร์ (15)
สำหรับสมาชิกคนอื่นๆ ในคณะ ประกอบด้วย ส.ส.พรรคเดโมแครต 3 คน คือ จอห์น การาเมนดี จากรัฐแคลิฟอร์เนีย แอลเลน โลเวนธัล จากแคลิฟอร์เนียเช่นกัน และดอน เบเยอร์ จาก เวอร์จิเนีย อีกคนหนึ่งคือ ออมูอา อามาตา โคลแมน เรดวาเกน แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นตัวแทน (ได้นั่งในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง) จากดินแดนอเมริกันซามัว
ด้านสำนักประธานาธิบดีไต้หวันแถลงว่า คณะผู้แทนชุดนี้จะพบปะกับ ไช่ ตอนเช้าวันจันทร์ (15)
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่จีนกำลังเพิ่มความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาคนี้ด้วยการฝึกซ้อมทางทหาร การที่ มาร์คีย์ นำคณะผู้แทนนี้มาเยือนไต้หวันจึงเป็นการสาธิตให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐสภาสหรัฐฯ นั้นสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นมั่นคง” คำแถลงของสำนักประธานาธิบดีของไช่ระบุ
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน เผยแพร่ภาพของคณะ ส.ว.-ส.ส.อเมริกันกลุ่มนี้ขณะเดินทางถึงไต้หวัน โดยเป็นภาพ ส.ว.มาร์คีย์ ได้รับการต้อนรับจากรองรัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน อเล็กซานเดอร์ หยุย
ที่ท่าอากาศระหว่างประเทศเถาหยวน ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงไทเป และเป็นสนามบินทึ่มีการสัญจรคึกคักที่สุดของไต้หวัน สำหรับภาพของ ส.ส.อเมริกันอีก 4 คนนั้น เป็นภาพที่พวกเขาไปลงที่สนามบินซงซาน โดยที่มี ดักลาส สีว์ อธิบดีกรมกิจการอเมริกาเหนือไปต้อนรับ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า มาร์คีย์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานอนุกรรมการเอเชียตะวันออก แปซิฟิก และความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ ได้พบหารือกับประธานาธิบดียุน ซุกยอล ของเกาหลีใต้ ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (14) ที่เกาหลีใต้ ก่อนเดินทางต่อมาถึงไต้หวันในเที่ยวบินแยกต่างหาก โดยลงที่ท่าอากาศยานเถาหยวน
แม้จีนประกาศเสร็จสิ้นการซ้อมรบไปแล้ว แต่เครื่องบินรบของจีนยังคงบินเลยเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเคยถือเป็นเส้นแบ่งแดนในทางพฤตินัยอยู่เป็นประจำทุกวัน โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า ในวันอาทิตย์ (14) มีเครื่องบินรบของจีนล่วงล้ำเข้าไปอย่างน้อย 10 ลำ
เครื่องบิบขับไล่ 10 ลำดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบินทหารจีนรวม 22 ลำ และเรือของกองทัพเรือจีน 6 ลำ ซึ่งทางไต้หวันตรวจพบว่าอยู่ในพื้นที่รอบๆ ไต้หวัน ณ เวลา 17.00 น.ของวันอาทิตย์ (14) กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุในบัญชีทวิตเตอร์ของตน
สหรัฐฯ ยังจะส่งเรือรบ-เครื่องบินเข้าช่องแคบไต้หวัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันศุกร์ (12) ที่ผ่านมา เคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานสำหรับอินโด-แปซิฟิก ของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการการแถลงข่าวผ่านทางโทรศัพท์ว่า จีนใช้การเยือนไต้หวันของ เพโลซี เป็นข้ออ้างสำหรับเปิดการรณรงค์เพิ่มแรงบีบคั้นไต้หวัน ซึ่งกำลังสร้างอันตรายให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาควงกว้างออกไป
“จีนแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเกินเลย และการกระทำของพวกเขายังคงเป็นการสืบต่อการยั่วยุ การสั่นคลอนเสถียรภาพ และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” เจ้าหน้าที่ผู้นี้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่พูดกันว่าคือ “ซาร์” ด้านกิจการอินโด-แปซิฟิก ของคณะบริหารโจ ไบเดน บอก โดยเน้นเรื่องที่จีนเวลานี้ไม่เคารพเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน
แคมป์เบลล์กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ จะจัดส่งเรือรบและเครื่องบินไปผ่านช่องแคบไต้หวันในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ รวมทั้งกำลังจัดทำโรดแมปเพื่อการหารือเรื่องการค้ากับไต้หวัน ซึ่งสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะประกาศเรื่องนี้ออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
(ที่มา : เอพี, รอยเตอร์, เอเอพพี)