.
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงาน ‘PBIC RESEARCH SYMPOSIUM: 90 ปี ประชาธิปไตยไทย 88 ปีธรรมศาสตร์’ ณ ห้องพูนศุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยจัดเสวนาในหัวข้อ ‘ขบวนการเยาวชนและการฟื้นฟูคณะราษฎรใหม่’ โดย 5 นักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่
.
▪ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
▪ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
▪ ภัทริศวร์ เกตุรามฤทธิ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
▪ มิมี่-ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ กลุ่ม Feminist FooFoo
▪ อันนา-อันนา อันนานนท์ กลุ่มนักเรียนเลว
ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์
.
📌 ทุกสถาบันการเมืองจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน
มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังถูกตำรวจ สน.พื้นที่ติดกล้องวงจรปิดรอบที่พักใน กทม. ในมุมหนึ่งก็รู้สึกปลอดภัย แต่อีกมุมหมายความว่าถูกจับตาตลอดเวลา เข้าออกอย่างไร ใครมาหาบ้าง กลับบ้านกี่โมง แม้ตอนนี้ไม่ได้มีบทบาทนำ แต่เราก็ไม่สามารถเมินเฉยต่อสิ่งที่น่ากระอักกระอ่วนในสังคมได้
.
ไม่ได้ใส่ EM จึงขอพูดแทนเพื่อนที่มี EM ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการต่อสู้ในยุคนี้คือ การต่อสู้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเอาชนะอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่คือการต่อสู้เพื่อเซ็ตบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ ว่าต่อไปสังคมใหม่ที่เราอยากเห็น ประชาชนต้องการที่จะได้อะไรบ้าง อะไรที่จะเติมเต็มให้ประชาชนได้รับอย่างเต็มที่ เพื่อให้ตรงตามระบอบการปกครองที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย
.
การต่อสู้ในยุคนี้คือการทวงคืนอำนาจของประชาชน เราอยากเป็นผู้กำหนดออกแบบอำนาจเองก่อน ตัวนักการเมือง สถาบันทางการเมืองอย่างพรรคการเมืองก็จำเป็นจะต้องทบทวนบทบาทที่เลือกมายืนเป็นตัวแทนประชาชน ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ หรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนเป็นคนเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว แต่ทุกสถาบันการเมืองจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน มันคือการเซ็ตบรรทัดฐานการเมืองใหม่
.
ส่วนความจำเป็นที่ต้องพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทย สถาบันเป็นส่วนหนึ่งในสมการการเมืองไทยเสมอ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่เคยหายไปไหน เราปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ 90 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการแย่งชิงกันระหว่างประชาชนกับฝ่ายอำนาจเก่า
.
หมุดคณะราษฎรที่หายไป อนุสาวรีย์กบฏบวรเดชที่หายไป ทั้งหมดเหล่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเกิดการแย่งชิงอำนาจกันอยู่เสมอ ประชาชนจึงยังจำเป็นต้องพูดถึงปัญหานี้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่หลงลืมไปว่าเรากำลังอยู่ในสนามรบเช่นเดียวกับเมื่อ 90 ปีที่แล้ว
.
เรากำลังแย่งชิงอำนาจกลับคืนมาเป็นของประชาชน ให้เรามีอำนาจกำหนดออกแบบทิศทางในอนาคตของตัวเองให้ได้ เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่าการต่อสู้ในยุคนี้ไม่ใช่จะต้องผ่อนตรงนั้นเบาตรงนี้ แต่การทำงานทางความคิดในองค์รวม จะทำให้ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันเป็นผลดีในระยะยาว มากกว่าแค่การช่วงชิงอำนาจในช่วงจังหวะหนึ่งเพื่อไปเปลี่ยนแปลงอะไรแค่บางอย่าง
.
อยากฝากความหวังให้ทุกคน บางคนรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวมันเหนื่อยล้าแล้วหรือเปล่า 2 ปีผ่านไปเบาลงไปมาก เราโดนจับไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ม็อบไม่ได้หนักขนาดนั้นแล้ว แต่ว่าถ้าเราลองดูแฮชแท็กในโซเชียล ประเด็นทางสังคมที่แหลมคม จะรู้ว่าสังคมถูกขับเคลื่อนไปไกลขนาดไหนในช่วง 2 ปีนี้ และมีความหวังมากกว่าหลายครั้งที่เราเคยต่อสู้กันมาด้วยซ้ำ ครั้งนี้ยิงปัญหาถึงแก่นถึงรากลึกของปัญหาการเมืองไทยมากที่สุด
.
มั่นใจว่าหากเรายังคงยึดมั่นว่าเราเป็นเจ้าของอำนาจตามรูปแบบประชาธิปไตยที่เราได้รับมาเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ยังมีอุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ยังคงส่งต่อให้เราถึงทุกวันนี้ ไม่อยากให้หมดไฟกับการต่อสู้ อาจจะเป็นการต่อสู้ในระยะยาว เพราะครั้งนี้ต้องการแบบเบ็ดเสร็จ ต้องการได้ชัยชนะทางอำนาจกลับคืนมา อาจจะใช้เวลาหน่อย แต่มีช่วงจังหวะของมัน การขับเคลื่อนอย่างมั่นคงไปเรื่อยๆ ให้ผลในระยะยาวมากกว่าการพุ่งไปโดยไม่รู้ว่ามีฐานข้างหน้ารองรับหรือไม่
.
📌 ทุกคนเป็นหยดน้ำในสายธารประชาธิปไตยที่ไหลมา 90 ปี
เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ถูกติดกล้องวงจรปิดเช่นกัน และตอนนี้เลิกนับคดีแล้ว เพราะมีประมาณ 40-50 คดี สำหรับการชุมนุมมีขึ้นมีลงเหมือนคลื่น แต่สิ่งที่ทำให้รู้ว่ามีคลื่น เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัววันที่เงินประกันตัวไม่พอ จึงระดมบริจาค ภายในไม่ถึง 24 ชั่วโมง ได้มา 10 ล้านบาท ขอขอบคุณผู้ที่ช่วยซื้ออิสรภาพกลับมา เท่าที่ดูจากกองทุนราษฎรประสงค์ชี้แจงก็ไม่มีพ่อบุญทุ่มรายใหญ่ เป็นเงินคนตัวเล็กตัวน้อยหมด เป็นเหมือนคลื่น
.
อีกเรื่องมองว่า การที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แลนด์สไลด์ก็เป็นตัวชี้วัดว่า คนไม่เอาแคนดิเดตของฝ่าย Ultra Conservative ไม่ได้หมายความว่าคนที่เลือกชัชชาติเป็นคนหัวก้าวหน้าเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าไม่มีทางออก คนไม่เอาระบอบประยุทธ์ คลื่นใต้น้ำความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจยังคงมีอยู่ และจะแรงขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ไม่มีจังหวะให้ออก ไม่มีจังหวะให้แสดง ต่อให้ยังไม่แสดงก็เป็นพลังที่อยู่ใต้น้ำ
.
อีกปัจจัยสำคัญคือจะเลือกตั้งแล้ว ทุกคนก็คาดหมายกับการเลือกตั้ง ขอคาดการณ์ ลองดูสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ การแสดงพลังไม่ได้มีแค่ม็อบอย่างเดียว มีอีกหลายอย่าง การออกไปใช้สิทธิใช้เสียง การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ การลงถนนและอื่นๆ อีกมากมาย การเลือกตั้งเป็นที่จับตาในคนหมู่มาก ต้องดูว่า 24 สิงหาคมนี้จะออกมาอย่างไร
.
ผู้ดำเนินรายการถามว่า การที่ พล.อ. ประยุทธ์จะอยู่ต่อปลายเดือนสิงหาคมนี้ หรือจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวหรือไม่
.
พริษฐ์กล่าวว่า ขอตอบรวมๆ แบบเกรงใจกำไล EM คือมองว่าองคาพยพของชนชั้นนำมีความควบแน่นเป็นกลุ่มเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ประยุทธ์เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ง่ายที่สุด ซึ่ง 24 สิงหาคม เป็นทางลงที่สงบที่สุดแล้ว ต้องดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังสิ้นเดือนนี้ เพราะเป็นสัญญาณของชนชั้นนำที่ผูกขาดอำนาจในเมืองไทยมานาน ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตตัวเองและประเทศชาติ และต้องจับตาดูกระบวนการออกกฎหมายลูกการเลือกตั้ง เพราะทุกวันนี้ตัวกฎหมายลูกก็ถูกพยายามทำให้เป็นเรื่องเทคนิคสูตรคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 หาร 500 ทำให้การเลือกตั้งดูไกลตัวประชาชน ทั้งหมดนี้คือความพยายามถ่วงเวลาการเลือกตั้ง ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งจริงก็ผ่านกฎหมายลูกไป ยุบสภาหรือลาออก อะไรก็ตาม แต่ตอนนี้เขาพยายามทำกระบวนการให้ดูวุ่นวาย
.
แต่ความตึงเครียดในสังคมมันมากขึ้นเรื่อยๆ การเลือกตั้งเป็นช่องทางการแสดงพลังของประชาชนที่ถูกกฎหมาย และสงบสุขที่สุดแล้ว แต่ถ้าไม่อนุญาตให้มีช่องทางนี้เกิดขึ้น ไม่อนุญาตให้ประชาชนได้ส่งเสียงออกมาด้วย 1 สิทธิ 1 เสียง ก็จะยากในการหาทางออกให้กับประเทศนี้
.
ถ้าสู้แล้วความคิดของคนมีความก้าวหน้าอยากปลดแอกจากสิ่งครอบงำ ตราบใดที่ยังไม่หันหลังก็ยังไปต่อข้างหน้า เพียงแต่มันมีเวลาของมัน ทุกคนเป็นหยดน้ำในสายธารประชาธิปไตยที่ไหลมา 90 ปีแล้ว ซึ่งสายธารก็มาจากหยดน้ำ เสียงทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญ โลกเปลี่ยนแปลงด้วยพลังของทุกคน อย่าหมดหวังในพลังของตัวเอง
.
📌 ม็อบไม่ได้ล่ม จริงๆ เรากำลังมา
ภัทริศวร์ เกตุรามฤทธิ์ กล่าวว่า วันที่ 24 สิงหาคม ที่ พล.อ. ประยุทธ์จะอยู่ต่อหรือไม่ เป็นปัจจัยสำคัญว่ากระแสสังคมจะออกมาในทางไหน ซึ่งตัวชี้วัดเราเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่
.
ช่วงหลังๆ การลงถนนอาจจะน้อยแล้ว แต่หลังวันที่ 24 จะออกหน้าไหน ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง 2 หน้า เชื่อว่าทุกคนมีพลังอยู่ เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาแสดงออกมา ขึ้นอยู่กับจังหวะ สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสิน ควรจะยึดถือความถูกต้องเป็นหลัก
.
ปีหน้าจะเรียนจบนิติศาสตร์แล้ว ทำ อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ปีสุดท้ายก็ขอทำให้เต็มที่ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง ส่วนการนับ 8 ปีวาระ พล.อ. ประยุทธ์ ถ้าพูดตามหมุดหมายก็ครบแล้ว แต่ไม่รู้เขาจะหาช่องทางไหนอีกไหม
.
สำหรับกระแสความเคลื่อนไหวอาจจะมีการรวมกันอีกครั้ง บางคนมองว่าแผ่ว ส่วนตัวมองว่าม็อบไม่ได้ล่ม จริงๆ เรากำลังมา
.
📌 รอคำตัดสินคดีแรกที่ศาลเยาวชน
มิมี่-ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ กล่าวถึงอุปสรรคและความท้าทายที่เผชิญอยู่ว่า จากการเป็นกลุ่มเล็กๆ เคลื่อนไหวไม่กี่คน พอในขบวนการไม่มีการเชื่อมกัน ก็สามารถทำให้หมดไฟไปได้ง่ายๆ พอไม่มีวัฒนธรรมการดูแลหรือเยียวยากัน วัฒนธรรมที่ต้องหยุดพัก หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่ต้องทำให้ใครสักคนเป็นฮีโร่ หลายคนหมดไฟไปกับสิ่งนี้
.
อยากขอบคุณทนายความ เพราะเป็นบุคคลที่ต้องตื่นเช้านอนดึกเพื่อเราเสมอ หลายครั้งสิ่งที่เราทำไม่ตรงกรอบของเยาวชนแสนดี ทนายก็ถอนหายใจ แต่เขาก็ช่วยเราต่อ รู้สึกขอบคุณมากๆ ขอบคุณประชาชนที่ทำให้ไม่โดดเดี่ยว คดีจะถูกตัดสินเป็นคดีแรกของเยาวชนที่ศาลเยาวชนกลางเดือนหน้า เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอให้รอติดตาม คดีนี้ตัดสินอย่างไรน่าจะบอกแนวโน้มคดีอื่นๆ ของเยาวชนด้วย
.
ตอนนี้เรียนปี 1 เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย ต้องไปศาลทุกเดือน ที่ผ่านมาจุดที่ทำให้เหนื่อยคือ ไม่ใช่แค่เราที่โดนหมาย ตอนนี้มี 6-8 คดี แต่คนรอบตัวก็โดน และต้องไปสถานีตำรวจ
.
📌 ปล่อยเพื่อนเรา ความสำคัญลำดับแรกที่ต้องพูดถึง ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร
อันนา-อันนา อันนานนท์ แอดมินเพจนักเรียนเลว เคลื่อนไหวประเด็นการศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน อย่างผู้ว่าฯ กทม. พอชนะเลือกตั้งแล้วทำอะไร หน่วยงานรัฐก็จะเคลื่อนตามตลอด เช่น ขึ้นงบประมาณค่าอาหารกลางวัน กระทรวงศึกษาธิการก็ขึ้นตาม รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องตาม กทม. เรื่องกัญชา ตอนนี้อะไรเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก การเคลื่อนไหวจากคนรุ่นใหม่ๆ มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ก็เช่นกัน มีประเด็นการเคลื่อนไหวจี๊ดจ๊าดกว่าเรา แต่เป็นเรื่องที่ถูกขอจากตำรวจไม่ให้พูด เช่น เรื่องปฏิรูปสถาบัน
.
เชื่อว่าช่วงเลือกตั้งทั่วไป กระแสจะแรงกว่านี้แน่นอน เช่นเดียวกับช่วงเลือกตั้ง กทม. ซึ่งมีความร้อนแรง เช่น กระแสการเมืองพรรคแดง (เพื่อไทย) พรรคส้ม (ก้าวไกล) ติ่งพรรคต่างๆ มีวิธีของตัวเอง
.
สำหรับการลงถนนยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจจะถูกเลือกใช้ได้ แต่ตอนนี้โฟกัสไปที่การสื่อสารกับพรรคการเมือง นักการเมือง แค่เดินไปคุยกับชัชชาติ เรื่องนโยบายต่อขบวนเสด็จ วันถัดมาก็มีตำรวจโทรมาแล้วถามว่าใช่เราหรือเปล่า นอกจากนั้นได้คุยกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย และ เบญจา แสงจันทร์ พรรคก้าวไกล ในม็อบสภาครั้งล่าสุดที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า การสื่อสารกับพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะใช้
.
ฝากสื่อมวลชนติดตามกรณีวาระของ พล.อ. ประยุทธ์ ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าจะมีการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 23-24 สิงหาคม และคาดว่าหลังวันที่ 24 ก็จะรุนแรงขึ้นด้วยกระแสการเลือกตั้ง อย่าใช้ความรุนแรง
.
การปฏิรูปการศึกษา เป็นสิ่งที่นักเรียนถูกกดทับมากที่สุด และจะออกมาเรียกร้องทุกรัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหน จะไปหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็นใคร จะจี้ถามต่อไป เมื่อไรจะได้เสรีทรงผมสักที เมื่อไรการศึกษาไทยจะได้รับการปฏิรูปอย่างครบถ้วนทุกอย่าง
.
ขอฝากอีกอย่างคือ ปล่อยเพื่อนเรา เพื่อนที่ยังอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นทะลุแก๊ซ ทะลุฟ้า หรือนักเคลื่อนไหวอิสระ เรื่องสิทธิการประกันตัว เพราะยังมีนักต่อสู้ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ อยากให้ทุกคนยังส่งเสียงปล่อยเพื่อนเรา ไม่ว่ากระแสการเมืองจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้คือความสำคัญลำดับแรกที่ต้องพูดถึง
.
#TheStandardNews