19 ส.ค.2565 – นายไพศาล พืชมงคล แนวร่วมกลุ่มหลอมรวมประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า เมื่อวาระ8ปีครบลง ในวันที่ 23 สิงหาคม 65 เวลา 24:00 น
ผู้ที่มีหน้าที่สำคัญที่สุดคือประธานรัฐสภา ที่จะต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาสรรหานายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
ถ้าไม่ทำหน้าที่นี้ จะต้องรับผิดทางกฎหมายทั้งในทางอาญาในทางจรรยาบรรณและการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ
จับตาดูว่าประธานรัฐสภาจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้!!!!
เพราะนี่คือหน้าที่และความรับผิดชอบของประธานรัฐสภาโดยตรง
แต่ถ้าเห็นว่ามีปัญหาต้องตีความก็เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ครบถ้วนทุกประเด็นปัญหา!!!
ส่วนการที่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ก็เป็นสิทธิในส่วนของสมาชิกรัฐสภาที่จะทำได้ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
และในเรื่องนี้คงไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะใช้เอกสารหลักฐานและการอ้างอิงน้อยมากคือ
~ พระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกเมื่อ 24 สิงหาคม 57
~ มติที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งชุด โดยเฉพาะมติที่ประชุมว่าด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 158
3. อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายสิระ เจนจาคะ และในเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประยุทธ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกและนำสำนวนทั้ง 2 เรื่องนั้นมาประกอบการพิจารณา เพราะเป็นบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยให้รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับกับกรณีนายสิระถูกจำคุกในปี 2538 และ กรณีการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 57 จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ปปช.
ส่วนข้ออ้างตามกฎหมายก็ต้องอ้างมาตรา 264 ประกอบมาตรา 158 เป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา
ถ้าดำเนินการโดยถูกต้องครบถ้วน ในชั้นรับคำร้อง ศาลสามารถสั่ง ให้มีการปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติใดๆก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยก็ได้ ซึ่งจะป้องกันปัญหาในอนาคตได้มาก