.
วันนี้ (5 กันยายน) เมื่อเวลา 17.00 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ร่วมกับ 28 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรม ‘ลาบ ส.ว’ (ลาบสมาชิกวุฒิสภา) ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อค้านรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
.
ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) กล่าวว่า กิจกรรม ‘ลาบ ส.ว.’ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในภาคกลาง ที่ใช้กรรไกร เพราะ ‘ลาบ’ อยู่วิถีชีวิตและยังเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวเหนือ เฉกเช่นในการจะปรุงลาบนั้นจะต้องคัดสรรเลือกวัตถุดิบด้วยตนเอง แต่สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนกลับมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชนซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม กิจกรรมครั้งนี้ต้องการสื่อถึงการตัดอำนาจ ส.ว. ออกจากสภาก่อนวาระรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เข้าสู่สภาในวันที่ 6-7 กันยายนนี้
.
ทั้งนี้ชาติชายพร้อมด้วยผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ดังนี้
.
เนื่องด้วยวันที่ 6-7 กันยายน พ.ศ. 2565 มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในประเด็นสำคัญ คือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยการเข้าชื่อกันของประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการลงมติเลือกบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคเหนือเล็งเห็นว่า อำนาจที่มากเป็น ‘พิเศษ’ ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีที่มาแบบ ‘พิเศษ’ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้รัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้รับการเชื่อถือยอมรับ และทำให้รัฐบาลที่มาจากเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาขาดความชอบธรรม ขาดการยึดโยงกับประชาชน ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง
.
ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไปไว้ในมือคนกลุ่มเดียว และยังไม่คืนอำนาจให้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ยังคงยึดกุมอำนาจไว้ด้วยกลไกหลากหลายในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และองค์กรอีกมากมายที่ถูกแต่งตั้งขึ้น โดยเครื่องมือที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดก็คืออำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีนี้เอง และกลไกที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้ที่สำคัญที่สุดคือ ‘การจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่บริสุทธิ์ โปร่งใส และเป็นธรรมโดยเร็ว’ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้านั้นจะไม่มีทางเป็นธรรมได้ และไม่มีทางที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชนได้ หากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีอำนาจ ‘เหนือประชาชน’ ที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปและรัฐบาลชุดต่อไป ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจ พิเศษของสมาชิกวุฒิสภาจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคเหนือจึงเห็นควรว่าให้ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. โดยทันที เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน กระจายความมั่งคั่งให้ประชาชน ประชาชนมีเสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพร่วมกัน
.
————————————————————
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ