เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ไม่น่าเชื่อ ! อ่างเก็บน้ำถูก ทิ้งร้าง เงินฝังดิน 2.5 แสนล้าน‘สังศิต’ บอกเรื่องนี้ต้องถึงหู สทนช.

#ไม่น่าเชื่อ ! อ่างเก็บน้ำถูก ทิ้งร้าง เงินฝังดิน 2.5 แสนล้าน‘สังศิต’ บอกเรื่องนี้ต้องถึงหู สทนช.

14 September 2022
315   0

 

 

เงินฝังดิน 2.5 แสนล้าน!!

‘สังศิต’ บอกเรื่องนี้ต้องถึงหู สทนช.||

 

ไม่น่าเชื่อ !! ‘อ่างเก็บน้ำ ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ประตูระบายน้ำ ถูกทิ้งร้าง กว่าแสนแห่ง เงินแผ่นดิน 2 แสนห้าหมื่นล้านบาทจมหายในผืนทรายใต้ท้องน้ำ’

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565 เวลา 14:00 นาฬิกา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกรณีบ้านเรือนและที่ทำกินประสบปัญหาแม่น้ำเลยกัดเซาะตลิ่งในพื้นที่เทศบาลตำบลปากปวน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

นางสาวณิชกานต์ ดวงศรี นายกเทศมนตรีตำบลปากปวน รายงานปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งว่า พื้นที่หมู่ 5 บ้านป่าเป้า ถูกนำ้กัดเซาะทำให้ตลิ่งพังทะลายความยาวประมาณ พื้นที่ 130 เมตร เกือบถึงบ้านเรือนของราษฎร

จุดที่สำคัญคือฝายห้วยปวน ในพื้นที่หมู่ 12 บ้านป่าเป้าได้รับโอนจากกรมชลประทาน ก่อสร้างเมื่อปี 2539 ให้อยู่ในความดูแลของเทศบาล ถูกน้ำกัดเซาะจนตัวฝายเสียหาย เทศบาลไม่มีงบประมาณพอที่จะซ่อมสร้างใหม่ได้

นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ลำน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยการใช้เทคนิคซอยด์ซีเมนต์ โดยการใช้รถแบคโฮขุดเป็นแนวยาวไปตามบริเวณริมตลิ่งที่ถูกกัดเซาะ จากนั้นใช้ปูนซีเมนต์ผสมกับดินในอัตราส่วน 1 : 20 บดอัดขึ้นมาเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ระดับใต้ท้องน้ำ ประมาณ 2 เมตร ขึ้นมาจนถึงระดับพื้นถนนริมตลิ่ง หรือขุดเจาะพื้นทำแค่ฐานรากเพื่อป้องกันดินสไลด์ข้างบนโดยใช้การบดอัดแบบธรรมดาก็จะประหยัดงบประมาณมากขึ้น ซึ่งจะได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ว่าต้องใช้ส่วนผสมระหว่างปูนซีเมนต์กับดินในอัตราส่วนเท่าใด

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เห็นด้วยกับแนวทางที่ ผอ.ภัทรพลเสนอและแนะนำให้นายกเทศมนตรีเข้าหารือกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อดูว่าจะมีงบเร่งด่วนใดเพื่อนำมาดำเนินการหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้พี่น้องที่อยู่ริมตลิ่งอย่างเร่งด่วน

นายดำรง พระพินิจ ผู้อำนวยการกองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย แจ้งต่อที่ประชุมว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถให้การสนับสนุนเครื่องจักรกลโดยนำรถแบคโฮมาช่วยดำเนินการได้

นายภัทรพลให้ข้อมูลในการประชุมหารือต่อมาว่า

‘การถ่ายโอนแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีความจุต่ำกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรือกรมพัฒนาที่ดินให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ตาม พรบ.ถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2545 จนถึง ปัจจุบัน มีจำนวนกว่า 1 แสนแห่งทั่วประเทศ’

‘มีทั้งอ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ผนังกันดินริมตลิ่ง ฝายน้ำล้น และอื่นๆ และยังมีแหล่งน้ำขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนนับหมื่นแห่งที่องค์การปกครองท้องถิ่นไม่ยอมรับโอน เพราะเกินศักยภาพของท้องถิ่น จึงทำให้แหล่งน้ำเหล่านั้นขาดการพัฒนา พังถูกกัดเซาะ ตื้นเขิน มีวัชพืชขึ้นปกคลุมแทน’

‘บางแห่งอาจถูกบุกรุกจับจองที่สาธารณะเหล่านั้นในที่สุด เหมือนกับบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ซึ่งเดิมมีพื้นที่นับหมื่นไร่ แต่บึงสีไฟขาดการเหลียวแลจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นเวลานานทำให้ตื้นเขินมีการบุกรุกจับจองถึงขั้นออกโฉนด บึงสีไฟที่เคยมีขนาดใหญ่ ปัจจุบันยังมีสภาพเป็นบึงไม่กี่พันไร่’

นายภัทรพลให้ข้อมูลอีกว่า ‘แหล่งน้ำขนาดเล็กที่รับโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่นแล้วกว่าแสนแห่งนี้มีทั้งสภาพที่ดี แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้การได้ ไม่สามาถเก็บน้ำได้ ประชาชนในท้องถิ่นไม่สามาถใช้ประโยชน์จากแหล่งเก็บกักน้ำเหล่านั้นได้เท่าที่ควร

ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ อ่างเก็บน้ำรั่วมีน้ำเหลือเพียง 10-20% ของความจุอ่าง ซึ่งน้ำเกือบจะติดก้นอ่าง ประกอบกับอ่างเก็บน้ำตื้นเขินขาดการขุดลอกมาเป็นเวลานาน มีแต่ตะกอน ทำให้ไม่มีประโยชน์กับประชาชนที่ต้องการใช้น้ำ

‘หลายแห่ง ประตูระบายน้ำรั่ว พัง ขาดการดูแลมีน้ำเฉพาะฤดูฝนซึ่งทุกที่ก็จะมีน้ำเหมือนกันหมด ถึงฤดูแล้งไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ฝายชะลอน้ำซึ่งสร้างขวางลำน้ำก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน’

‘ประมาณว่าแหล่งน้ำขนาดเล็ก 85-90% จากแสนกว่าแห่งไม่สามารถใช้การได้ ด้วยเหตุผลที่ท้องถิ่นไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ และไม่มีงบซ่อมบำรุง ไม่มีงบสำหรับค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีสูบน้ำด้วยด้วยไฟฟ้า ประชาชนก็จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าไม่ไหว ในท้ายที่สุด สถานีสูบน้ำก็ต้องยุติการสูบน้ำโดยปริยาย ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ’

‘พิจารณาจากการลงทุนที่ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝายชะลอน้ำ ผนังกันตลิ่งพังหรืออื่นๆ ค่าก่อสร้างอยู่ที่ระหว่าง 1 – 5 ล้านบาท หากเราคิดราคากลางๆ ที่ตัวละ 2 ล้าน 5 แสนบาท สิ่งชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้การได้คิดเป็นตัวเลขกลมๆ กว่า 1 แสนตัว หมายความว่างบประมาณแผ่นดินจมดินโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยถึง 2 แสนห้าหมื่นล้านบาท ประเทศไทยช่างรวยจริงๆ’!! นายภัทรพลกล่าวด้วยความเสียดายและห่วงใย

นายภัทรพล เสนอความเห็นต่อ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ว่า

‘การขอตั้งงบจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแบบระบุรายละเอียด  หมายถึงเป็นเงินอุดหนุนที่ต้องใช้ตามรายการที่ระบุ เช่น ระบุเรื่องการซ่อมประตูระบายน้ำ ซ่อมอ่างเก็บน้ำ หรือซ่อมฝายชะลอน้ำ หรือซ่อมถนน เป็นการระบุรายละเอียดและพิกัดที่ชัดเจน ซึ่งท้องถิ่นเห็นว่าการระบุรายละเอียดที่ชัดเจนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้งบประมาณ

ด้วยเหตุนี้ ฝายชะลอน้ำ อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า หรืออื่นๆ จึงขาดการเหลียวแลตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเกือบ 20 ปีแล้ว

📌 จึงขอเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปลี่ยนหลักคิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นทั่วประเทศกว่าแสนแห่งนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ จึงควรแก้ไขรายการเงินอุดหนุนเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป’ 📌

ความจุของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่กำหนดว่ามีเความจุต่ำกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องโอนให้ท้องถิ่นรับไปดำเนินการ แต่จากข้อเท็จจริงท้องถิ่นไม่มีศักยภาพและงบประมาณที่จะดำเนินการได้ ควรแก้ไขขนาดเป็นความจุต่ำกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งไม่เกินศักยภาพของท้องถิ่นที่จะดำเนินการ ได้เอง ส่วนแหล่งน้ำที่เกิน 1 ล้านลูกบาศก์เมตรให้โอนกลับไปยังหน่วยงานเดิม

แท้จริงแล้วปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่จำนวน 2 ล้านหรือ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัญหาคือองค์ความรู้ และงบประมาณที่ชัดเจนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กมากกว่า

ท้ายสุด นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการฯ เสนอว่า ‘นวัตกรรมดินซีเมนต์’ เป็นแนวทางแก้ปัญหาซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของฝาย อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง สามารถเก็บกักน้ำได้ดังเดิม หรือดีกว่าเดิม ประชาชนจะมีน้ำใช้ได้ตลอดปีด้วยวิธีการง่ายๆ ใช้งบประมาณน้อย บุคคลากรสามารถฝึกการปฎิบัติงานได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน และแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กเหล่านี้จะสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้อีกยาวนาน

‘การใช้ ‘นวัตกรรมดินซีเมนต์’ ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ดังกล่าวใช้เวลาไม่นาน ซ่อมแซมโดยไม่ต้องรื้อของเดิม บางแห่งอาจใช้เวลาเพียง 1 วันก็เสร็จแล้ว บางแห่ง 3 วัน บางแห่ง 7 วันหรือ 15 วัน เป็นงานที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้งบน้อย ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ ยกเว้นท้องถิ่นนั้นมีรายได้น้อยจริงๆ องค์ความรู้ของนวัตกรรมดินซีเมนต์นี้คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มีทีมงานที่มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญ นวัตกรรมดินซีเมนต์ พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาเชิงปฎิบัติ’ นายภัทรพล มั่นใจ

นายสังศิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘ฝายห้วยปวน ในพื้นที่หมู่ 12 บ้านป่าเป้า อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ไปดูมาเป็นตัวอย่างชัดเจนที่เงินแผ่นดินฝังอยู่ใต้ผืนทรายท้องน้ำเลยในรูปฝายน้ำล้น ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแล ถูกทิ้งร้างไม่มีการซ่อมแซมหลายปี เพราะต้องใช้งบประมาณนับสิบล้านบาท เกินศักยภาพของเทศบาลตำบลปากปวนจะทำได้

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ตลิ่งทั้งสองข้างจะถูกกัดเซาะกินบริเวณมากขึ้น แต่หากใช้นวัตกรรมดินซีเมนต์ซ่อมแซมจะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งหนึ่ง

‘เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมาธิการต้องศึกษาหาแนวทาง เพื่อให้แหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กในรูปแบบต่างๆ ที่ถ่ายโอนให้กับท้องถิ่นสามารถนำกลับมาใช้ได้ ซึ่งมีทั้งหมดกว่าแสนแห่งทั่วประเทศ หากดำเนินการได้เชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

ในบ่ายวันเดียวกันนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผมได้โทรศัพท์คุยกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้ช่วยจัดหางบประมาณแบบฉุกเฉินให้แก่เทศบาลตำบลปากปวน ท่านรับปากว่าจะหารือกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยและกรมปกครองส่วนท้องถิ่นให้ รวมทั้งยังได้เสนอแนะให้กับท่านนายกเทศมนตรีทำจดหมายหารือกับชลประทานจังหวัดเลยด้วยอีกทางหนึ่ง

เรื่องนี้ในท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมาธิการฯ คงจะต้องหารือประเด็นนโยบายกับท่านอธิบดีกรมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยและท่านอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาในภาพรวมของประเทศต่อไป

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา

14 กันยายน 2565