‘
วันพุธที่ 4 มกราคม 2565 เวลา 14:30 น. นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความามเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายประพันธ์ุ คูณมี กรรมาธิการ และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ “การบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง” ร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องธรรมรับอรุณ องค์การบริหารจังหวัดเชียงราย โดยมี นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายเกรียงศักดิ์ วันไชยธนวงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายรามิล พัฒนมงคลเชฐ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และหัวหน้าส่วนราชการ
นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวต่อที่ประชุมว่า ‘ได้ลงพื้นที่ครบ 1,604 ทุกหมู่บ้านของจังหวัดเชียงราย ทำให้รับทราบข้อมูลต่างๆ แล้วนำมากำหนดเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาและพัฒนา’
นายกฯ ‘นก-อทิตาธร’ เล่าจากประสบการณ์ จากการย่ำเยือนทุกภูมิประเทศ ที่เธอจดจำแบบไม่ต้องมีเอกสารอยู่ในมือว่า ‘จังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ทำให้บางครั้งเกิดอุทกภัยและน้ำไหลทิ้งลงไปยังแม่น้ำโขงทั้งหมด’
‘จึงได้ศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการแสวงหาความรู้และความร่วมมือจากบุคคล องค์กร รวมทั้งภาคประชาสังคมต่างๆ ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เช่น การทำฝายมีชีวิตและธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นต้น ซึ่งการสร้างฝายชะลอน้ำที่สำคัญเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของทาง อบจ.เชียงราย และมีความสนใจเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์’
‘ส่วนประเด็นเรื่องการศึกษานั้น อบจ.เชียงราย ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มีโครงการห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเรียนได้ทุกอย่างทุกที่ทุกเวลา และขยายไปยังอำเภอต่างๆ ด้วยรูปแบบ “ห้องเรียน อบจ. สู่ห้องเรียนท้องถิ่น” และระบบการเรียนการสอนแบบ “สอนคิด” ให้เด็กคิดเป็น และจบไปมีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน’
‘แนวทางการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กและการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของคณะกรรมาธิการและ อบจ.เชียงราย เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งทาง อบจ.เชียงราย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกันในอนาคต และโดยส่วนตนคิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิด รับรู้ และเข้าใจปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้ดีที่สุด ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเครื่องมือ มีความเข้มแข็ง ประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าสู่การพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้’ นายกฯ นก-อทิตาธร กล่าวในที่สุด
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ขอบคุณนายกฯอบจ.เชียงรายด้วยความชื่นชมว่า ‘อปท. อยู่ใกล้ชิดและรับรู้ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด จากการได้รับฟังแนวคิดของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อประชาชนในท้องถิ่นด้วยหัวใจ ด้วยความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ทำให้มองเห็นแนวทางความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป’
นายประพันธ์ุ คูณมี กรรมาธิการฯ ได้แสดงความเห็นว่า การเข้ามาร่วมงานกับคณะกรรมาธิการคณะนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทายและสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และคนยากคนจนได้ และมีความเห็นว่า อปท. อยู่ใกล้ชิดและรับรู้ปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด ก็ต้องดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนให้เต็มที่ตามกำลังความสามารถ ตามที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายได้ดำเนินอยู่การ และถึงแม้กลไกของรัฐที่อาจจะยังไม่เอื้อเท่าที่ควร เรายังสามารถนำองค์กรภาคเอกชนที่มีงบประมาณ CSR เข้ามาช่วยเสริมในส่วนนี้ได้ เพราะจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาที่เคยคลุกคลีกับพี่น้องเกษตรกรคนยากคนจน รวมทั้งมีส่วนในการผลักดันกฎหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนเหล่านั้น จึงมีความเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าเรามีหัวใจอยู่กับประชาชน
นายสังศิต กล่าวถึงแนวคิด ที่มา เจตนารมย์ของคณะกรรมาธิการฯก่อนปิดการประชุมว่า ‘เนื่องจากปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือปัญหาเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำ จึงได้มีแนวคิดในการตั้งคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่และอำนาจในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพราะปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง คณะกรรมาธิการเริ่มต้นด้วยการออกไปแสวงหาความรู้ วิธีการ และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการใน 4 เรื่องหลักๆ ดังนี้คือ
1. การใช้นวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้พื้นที่นอกเขตชลประทานมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภคตลอด 365 วัน
2. การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้รูปแบบของโรงเรียนมีชัยพัฒนา เพื่อสร้างให้เด็กนักเรียนมีทักษะทางอาชีพและทักษะในการใช้ชีวิต
3. การส่งเสริมเรื่องการตลาด การเกษตรแบบผสมผสานด้วยแนวทางส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ไทย และนำผลผลิตเข้าโมเดิร์นเทรดทั้งหมด
4. การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เพื่อให้คนสามารถอยู่กับป่าได้
การเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อเป็นการทำความรู้จักคุ้นเคย รวมทั้งเผยแพร่นวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ เพราะมีคุณสมบัติเด่นๆ ดังนี้ คือ
1. สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีแกนดินซีเมนต์ฝังลึกลงไปในลำน้ำ และตลิ่งทั้งสองข้างเป็น 2 เท่าของความสูงของฝาย
2. มีความคงทน สามารถป้องกันการกัดเซาะของน้ำได้
3. ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างไม่นาน ใช้งบประมาณน้อย เพราะใช้ปริมาณปูนซีเมนต์และดินในอัตราส่วน 1 : 10-30 ส่วน
ท้ายที่สุด ผมเห็นว่ามีโอกาศสูงที่คณะกรรมาธิการฯกับอบจ.เชียงรายจะได้ทำงานร่วมกันในเรื่องการทำฝายแกนดินซีเมนต์และการศึกษาเพื่อแก้จนในระยะเวลาใกล้ๆนี้ครับ
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
6 มกราคม 2566