กรณีการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวน 240 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดอีเวนต์ประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว กรณีกล่าวหาว่าดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงานที่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว หรือไม่นั้น
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวพร้อมความเห็นจากคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ อย่างไรก็ดีไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดมีใครบ้าง
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับรองรายงานการประชุมในการมีมติชี้มูลความผิดคดีนี้ จะมีการแถลงข่าวต่อสาธารณชน เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ เกี่ยวพันกับอดีตผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล และประชาชนติดตามให้ความสนใจ
สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหามีทั้งสิ้น 17 ราย แบ่งเป็น กลุ่มนักการเมือง จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีต เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 9 ราย ที่เกี่ยวข้องการจัดทำราคากลางและจัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มเอกชน จำนวน 5 ราย จากบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน แบ่งเป็นถูกกล่าวหาในนามนิติบุคคล 2 แห่ง ถูกกล่าวหาในนามผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท 2 ราย และผู้บริหารบริษัท 1 ราย โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 17 ราย ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปแล้ว
อนึ่ง เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนชุดดังกล่าว ได้สรุปสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว โดยเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มการเมืองทั้ง 3 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ส่วนกลุ่มข้าราชการ 9 ราย เห็นว่า มีมูลความผิดทางวินัย แต่ไม่มีมูลความผิดทางอาญา เนื่องจากดำเนินการตามที่ฝ่ายการเมืองสั่งการ ส่วนกลุ่มเอกชน 5 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 2 แห่ง และผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท 2 ราย เห็นว่า มีมูลความผิดทางอาญาฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนผู้บริหารอีก 1 ราย ไม่มีมูลความผิด เนื่องจากกระทำการตามที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทสั่งการ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เกี่ยวกับกรณีการจัดงานจัดอีเวนต์พีอาร์โครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 วงเงิน 240 ล้านบาท บริษัทสื่อมวลชน 2 แห่ง ปรากฏรายชื่อเป็นผู้รับว่าจ้าง โดยรายแรก ได้รับงาน 140 ล้านบาท ,รายที่สอง ได้ 100 ล้านบาท ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินงาน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เพื่อขอให้ทบทวนการจ่ายเงินว่าจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้กับบริษัทเอกชนทั้งสองราย ให้เหตุผลว่า กฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานประชาสัมพันธ์ดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ปรากฏผลชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาหรือไม่
ขณะที่กระบวนการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานนี้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น โดยเฉพาะการสืบราคางานจากบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว แต่ สลน. โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือตอบ สตง. เป็นทางการว่า ไม่สามารถทบทวนได้ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่บริษัทสื่อมวลชนได้ทำหนังสือถึง สตง. เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีนี้ ระบุว่าในการจัดงานที่ผ่านมาบริษัทได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 130 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาแต่อย่างใด
ข้อมูลจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. พบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำจัดซื้อจัดจ้างมีการทำเอกสารย้อนหลังด้วย