ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้คดีนปช.ก่อการร้าย ชุมนุมใหญ่ปี 53 ให้จำคุก “เจ๋ง ดอกจิก ยศวริศ” 5 ปี 4 เดือน ฐานข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ ส่วน “สุขเสก” แนวร่วมชุดดำ ครอบครองระเบิดเอ็ม 79 ให้จำคุกตลอดชีวิต นอกนั้นยกฟ้อง
ที่ศาลอาญา สายวันที่ 9 ม.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช., นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ อายุ 58 ปี ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ อายุ 48 ปี เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 72 ปี, นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 58 ปี, นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา อายุ 71 ปี, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 65 ปี, นายนิสิต สินธุไพร อายุ 67 ปี, นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล อายุ 56 ปี, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 72 ปี, นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 63 ปี, นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ อายุ 47 ปี
นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล อายุ 52 ปี, นายอำนาจ อินทโชติ อายุ 67 ปี, นายชยุต ใหลเจริญ อายุ 50 ปี, นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง อายุ 61 ปี, นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 38 ปี, นายรชต หรือกบ วงค์ยอด, นายยงยุทธ ท้วมมี อายุ 67 ปี, นายอร่าม แสงอรุณ อายุ 62 ปี, นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อายุ 42 ปี, นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง อายุ 62 ปี, นายสมพงษ์ หรือแขก บางชม, นายอริสมันต์ หรือ กี้ร์ พงศ์เรืองรอง อายุ 59 ปี ทั้งหมดเป็นแกนนำ, การ์ด และแนวร่วม นปช. เรียงตามลำดับเป็นจำเลยที่ 1-24 ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อาญา มาตรา 135/1, ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย มาตรา 135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม
ส่วนนายยศวริศ จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และนายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือเป็นหัวหน้าสั่งการฯ มาตรา 215 และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก มาตรา 216 ทั้งหมดตามประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับคดีนี้อัยการฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค. 2553 พวกจำเลยชุมนุมเพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่า นายอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯ โดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบริเวณแยกราชประสงค์ นอกจากนั้น ยังมีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ด้วย มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธเพื่อการก่อการร้าย
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณา ด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ ลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กับห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ว่าไม่มีความผิดฐานก่อการร้าย
โดยในวันนี้ นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายจตุพร, นพ.เหวง แกนนำและแนวร่วม นปช. ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน ยกเว้น นายสมบัติ มากทอง จำเลยที่ 16 เสียชีวิต กับนายสุรชัย เทวรัตน์ จำเลยที่ 17 และนายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ที่หลบหนี ขณะเดียวกันได้อ่านคำพิพากษาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปให้นายสมพงษ์ บังชม จำเลยที่ 23 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ฟัง นอกจากนี้ ยังมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช., นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. คนใกล้ชิดและผู้ติดตามเกือบ 30 คน ที่เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่ม นปช. ร่วมฟังคำพิพากษา ขณะที่ทางศาลมีตำรวจจาก สน.พหลโยธิน และเจ้าพนักงานตำรวจศาล เข้าร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลและภายในห้องพิจารณาคดี
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใจความว่า พยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่า นายยศวริศ จำเลยที่ 7 ประกาศให้ผู้ชุมนุมร่วมกันรื้อค้นและทุบทำลายรถยนต์ของทางราชการ ได้รับความเสียหาย มีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 และกระทำการให้กลัวว่า จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และเป็นการข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ ให้ยินยอมโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง
ส่วนนายสุขเสก จำเลยที่ 12 พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ และมีพฤติการณ์เกี่ยวข้อง กับการนำเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ระเบิดลูกเกลี้ยงและกระสุนปืนจำนวนหนึ่งไปให้บุคคลนำไปฝังซึ่งต้องการปิดบังอำพรางอาวุธดังกล่าว โดยมีพยานซึ่งเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 12 เป็นผู้ใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ขณะเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยที่ 12 จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของบุคคลใด เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน อันเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่าเฉพาะ จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง และ 358 ประกอบมาตรา 83 และเฉพาะจำเลยที่ 12 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษ จำเลยที่ 7 ฐานข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำคุก 5 ปี และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกรวม 5 ปี 4 เดือน และให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.193/2556 ของศาลชั้นต้น ส่วนสุขเสก จำเลยที่ 12 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ขณะนี้นายยศวริศ จำเลยที่ 7 และนายสุขเสก จำเลยที่ 12 อยู่ระหว่างยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวสู้คดี นอกจากนั้นให้พิพากษายืน (ยกฟ้อง) ตามศาลชั้นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นคำพิพากษายกฟ้อง ปี 62 ใจความว่า พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่เข้ามาเบิกความยืนยันว่า มีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่ม นปช. ได้ทำการปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุม แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่า ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใด หรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่า การชุมนุมของ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่า เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. การเดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคม ก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนเเนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไป
ก่อนหน้านั้น ชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด และไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้น ทั้งๆ ที่สถานที่ที่ปรากฏตัวชายชุดดำ มีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมาก จึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงที การที่แกนนำกลุ่ม นปช. ปราศรัยบนเวทีที่ว่า หากทหารออกมาสลายการชุมนุม หรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้มีการเผานั้น เป็นการกล่าวปราศรัยบนเวที ก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด การวางเพลิงเผาทรัพย์เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค. 2553 ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ไว้เป็นที่สุด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8132/2561 ว่า มิใช่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ และปฏิเสธเข้ามาดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กับพวก ซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา การดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ กับพวก จึงมิใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม นปช. เพราะแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ประกาศจุดยืนมาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี ส่วนนายยศวริศฟังว่าทำผิดจริงแต่ไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินไปเป็นของเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
นายเจ๋ง ดอกจิก กับนายสุขเสก ได้ยื่นประกันแต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงออกหมายขังไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า วันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อการร้าย อันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และวันนี้ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายกฟ้อง สาระสำคัญคือ ข้อกล่าวหาของอัยการซึ่งเป็นโจทก์ ไม่ได้มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าการชุมนุมของกลุ่มนปช. โดยคณะแกนนำมีเจตนาที่จะสร้างความรุนแรง สร้างความเสียหาย หรือใช้กำลังอาวุธในการชุมนุมแต่อย่างใด