ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “พรรคการเมืองขนาดเล็กและการควบรวม” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 9-12 มกราคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับพรรคการเมืองขนาดเล็กและการควบรวมพรรคการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ภายใต้กติกาบัตร 2 ใบ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.26 ระบุว่า ควรเดินหน้าต่อด้วยการไปควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น รองลงมา ร้อยละ 37.56 ระบุว่า ควรเดินหน้าต่อไปในนามพรรคการเมืองเดิม ร้อยละ 15.34 ระบุว่า ควรยุติบทบาททางการเมือง และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า ควรเดินหน้าต่อด้วยการไปควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น (จำนวน 606 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวขนาดของพรรคการเมืองที่ควรไปควบรวม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 61.55 ระบุว่า ควรไปควบรวมกับพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะเป็นพรรคขนาดใหญ่ รองลงมา ร้อยละ 27.39 ระบุว่า ควรไปควบรวมกับพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะเป็นพรรคขนาดกลาง และร้อยละ 11.06 ระบุว่า ควรไปควบรวมกับพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็กเหมือนกัน
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการควบรวมทางการเมืองระหว่างคุณกรณ์ จาติกวณิช กับ คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จนกลายมาเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.87 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่เหมาะสมมาก รองลงมา ร้อยละ 30.99 ระบุว่า การควบรวม ทำให้มีโอกาสได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 19.39 ระบุว่า เป็นการควบรวมชั่วคราว เฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 14.50 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่ไม่เหมาะสมเลย ร้อยละ 9.31 ระบุว่า การควบรวมจะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อโอกาสการได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 5.80 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่คุณกรณ์ จาติกวณิช ได้ประโยชน์มากกว่าร้อยละ 5.34 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้ประโยชน์มากกว่า ร้อยละ 4.43 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่คุณกรณ์ จาติกวณิช ลาออกจากพรรคกล้า ร้อยละ 3.44 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่จะไม่มีพรรคชาติพัฒนาในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และร้อยละ 3.21 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข่าวแนวโน้มการควบรวมทางการเมืองระหว่างพรรคไทยสร้างไทย นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.15 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่เหมาะสมมาก รองลงมา ร้อยละ 31.76 ระบุว่า การควบรวมทำให้มีโอกาสได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 20.08 ระบุว่า เป็นการควบรวมชั่วคราว เฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 14.35 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่ไม่เหมาะสมเลย ร้อยละ 10.76 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่พรรคไทยสร้างไทย และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ประโยชน์มากกว่า ร้อยละ 8.32 ระบุว่า การควบรวม จะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อโอกาสการได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ ร้อยละ 4.50 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่อาจจะไม่มีพรรคไทยสร้างไทย ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ร้อยละ 3.66 ระบุว่า เป็นการควบรวมที่พรรคสร้างอนาคตไทย และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ประโยชน์มากกว่า ร้อยละ 1.76 ระบุว่า รู้สึกเสียดายที่อาจจะไม่มีพรรคสร้างอนาคตไทยในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และร้อยละ 2.82 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.18 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.36 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 32.44 สถานภาพโสด ร้อยละ 65.12 สมรส และร้อยละ 2.44 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 24.20 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 33.82 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.87 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า
ร้อยละ 30.30 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.81 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 10.38 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.03 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.31ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.89 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.21 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.61 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.57 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 22.29 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.84 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.50 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.61 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.36 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.58 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.82 ไม่ระบุรายได้