เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ป.ป.ช หายข้องใจ !โครงการ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’มุกดาหาร

#ป.ป.ช หายข้องใจ !โครงการ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’มุกดาหาร

15 January 2023
723   0

 

ป.ป.ช หายข้องใจ ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’? (ตอนที่ 2)

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ และคณะของพลโท จเรศักดิ์ อานุภาพ หัวหน้าคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) พร้อมคณะสมาชิกวุฒิสภาและเจ้าหน้าที่ ได้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเองร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำและที่ดิน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารและคณะ นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดมุกดาหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร

ในการประชุมระดมความเห็นดังกล่าว สรุปประเด็นปัญหาสำคัญหลักๆ ได้ดังนี้

1. ปัญหาเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดของจังหวัด

2. ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารมีการทำเกษตรอินทรีย์ในบางพื้นที่ แต่ยังขาดการส่งเสริมด้านการตลาด

3. ปัญหาเรื่องขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และปัญหาเรื่องที่ อปท. ไม่สามารถเข้าไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้แก่ราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐได้

4. ปัญหาเรื่องคนอยู่กับป่าและปัญหาด้านเอกสารสิทธิ์ต่างๆ
เป็นปัญหาที่มีความตึงเครียดสูงอยู่ในจังหวัด

จากนั้นที่ประชุมได้ระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ดังนี้

1. ปัญหาเรื่องน้ำแล้งและการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคนั้น นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดินเชิงโครงสร้างฯ ได้เสนอแนวความคิดในการใช้ฝายแกนดินซีเมนต์เพื่อกักเก็บน้ำในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เพราะเป็นฝายที่มีราคาถูก สร้างได้อย่างรวดเร็ว และมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดีเนื่องจากใช้วัสดุในพื้นที่คือปูนซีเมนต์และดินปริมาณ 1 : 10 – 30 มีการขุดร่องแกนลึกลงไปในลำน้ำเป็น 2 เท่าของความสูงของฝาย รวมทั้งปีกทั้งสองข้างของตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะริมตลิ่ง นอกจากนั้นยังมีการขุดร่องเติมน้ำ ซึ่งเป็นการพรวนดินระดับลึกเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน การเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นและสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

จากนั้น นายอนุชา พึ่งบุญศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร ได้ตั้งคำถามเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของ อปท. ในการจัดทำฝายแกนดินซีเมนต์ดังนี้

1. ฝายแกนดินซีเมนต์ได้มีการบรรจุไว้ในบัญชีนวัตกรรมหรือไม่

2. ได้มีการสำรวจจุดหรือพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารไว้หรือไม่

3. จำเป็นต้องมีการขุดลอกลำห้วยทั้งเหนือและใต้จุดสร้างฝายหรือไม่ เพราะถ้าจำเป็น ต้องมีงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มเติมขึ้นมา

4. มีค่าบำรุงรักษาหรือไม่ ประมาณเท่าไหร่ และมีอายุการใช้งานประมาณกี่ปี

5. เมื่อเป็นบัญชีนวัตกรรม ได้มีการเผยแพร่นวัตกรรมนี้ให้บริษัทอื่นๆ สามารถใช้นวัตกรรมนี้เข้ามาดำเนินการในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่

ประเด็นดังกล่าว นายภัทรพล ณ หนองคาย นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ และรองศาสตราจารย์ดร.เสรี ศุภราทิตย์ อนุกรรมาธิการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดินเชิงโครงสร้างฯ ได้ร่วมกันตอบคำถาม ดังนี้

1. ฝายแกนดินซีเมนต์ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรไว้แล้ว ขณะนี้กำลังดำเนินการยื่นจดนวัตกรรม

2. การกำหนดจุดสร้างฝายขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้น้ำและความพร้อมของพื้นที่และงบประมาณ และในอนาคต ถ้ามีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดมุกดาหาร จะมีการกำหนดจุดในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในภาพรวมต่อไป

3. ฝายแกนดินซีเมนต์เป็นฝายชั่วคราวเช่นเดียวกับฝายไม้ไผ่ ฝายกระสอบทราย ส่วนการขุดลอกขึ้นอยู่กับความจำเป็นของทางน้ำนั้นๆ ว่าตื้นเขินหรือไม่

4. ค่าบำรุงรักษาอาจจะมีบ้างในกรณีที่สันฝายมีความชำรุดบริเวณพื้นผิว แต่ก็ใช้แค่ปูนซีเมนต์ผสมดินในการซ่อมแซม และฝายแกนดินซีเมนต์มีอายุการใช้งานยาวนานหลายปี เช่น ฝายแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิที่มีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558 แต่ในปัจจุบันยังสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี

5. ได้มีการเผยแพร่วิธีการทำฝายแกนดินซีเมนต์ไปแล้ว เช่น เมื่อปี 2563 สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้อนุมัติงบประมาณในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 187 แห่ง ซึ่งมีผู้รับจ้างสร้างฝายดังกล่าวประมาณ 20 บริษัท เข้าร่วมประกวดราคาในการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ดังกล่าว

ประเด็นดังกล่าว นายคุณากร เชษฐวงกรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริการท้องถิ่นสาธารณะ ได้ตั้งประเด็นคำถามว่า

1. การดำเนินการขอสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ของ อปท. ต้องบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นหรือไม่

2. โครงการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ดังกล่าวต้องเข้าสู่แผนการบริหารจัดการน้ำหรือระบบ Thai Water Plan หรือไม่

3. กรณีพื้นที่สร้างฝายเป็นพื้นที่ของหน่วยงานอื่นจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ อนุกรรมาธิการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดินเชิงโครงสร้างฯ ได้ตอบประเด็นคำถามดังกล่าวว่า ฝายแกนดินซีเมนต์เป็นฝายชั่วคราวกึ่งถาวรเทียบเท่ากับฝายกระสอบทราย ถ้าสร้างโดยใช้งบประมาณของรัฐต้องผ่านระบบ Thai Water plan และต้องปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด ส่วนพื้นที่การสร้างฝายนั้น ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนทุกครั้ง

พลโทจเรศักดิ์ อานุภาพ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า โครงการ สว. พบประชาชนภาคอีสานตอนบน ได้ให้ความสำคัญกับจังหวัดมุกดาหารโดยมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องทุก3 เดือน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินและเรื่องน้ำ และการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์นั้น ได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดชัยภูมิ แพร่ น่าน เพราะค่าสร้างไม่แพง ท้องถิ่นจึงมีงบประมาณสร้างเองได้ อีกทั้งยังมีทีมงานในการให้คำแนะนำทั้งเรื่องการออกแบบและวิธีการของบประมาณจากระบบ Thai Water plan รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ก็มีความยินดีในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวมุกดาหาร

พ.ต.ท.ดร.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การอบรมให้ความรู้แก่ อปท. ในเรื่องของการของบประมาณผ่านระบบ Thai Water plan เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งจะได้มีการประสานเพื่อฝึกอบรมการเตรียมเอกสารและการกรอกข้อมูลต่างๆ เข้าระบบดังกล่าวต่อไป และตนเองมีความตั้งใจที่จะดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินทั้งแบบเปิดและแบบดินกลบ การสร้างฝายชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดมุกดาหารในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร โดยจะนำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ รวมทั้งร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาส่งเสริมให้มีหลักสูตร ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารนั้น ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของ อปท. ในการซ่อมแซมหรือสร้างสิ่งสาธารณูปโภคไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ประปา มักจะประสบความล่าช้าของการขออนุญาตเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ของหน่วยงานอื่น เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และกรมเจ้าท่า เป็นต้น ถ้ามีการมอบอำนาจในการขอใช้พื้นที่และดำเนินการต่างๆ มาไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำให้การทำงานมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ขณะนี้ อบจ. มีเงินเหลือจ่าย 180 กว่าล้านบาท ซึ่งทาง อบจ. มีความตั้งใจในการนำเงินดังกล่าวมาสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่พี่น้องประชาชน เช่น ซ่อมแซมและสร้างถนนหนทาง สร้างแหล่งน้ำ ไฟฟ้าส่องสว่าง การจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ อปท. ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงและปูนซีเมนต์ในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นต้น

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า จังหวัดมุกดาหารมีโอกาสอันดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีความเข้าใจ มีความเห็นพ้องต้องกันและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เช่น การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ และโดยเฉพาะการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนำน้ำในแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหารที่อยู่ริมฝั่งโขงเป็นระยะทางมากกว่า 70 กิโลเมตร ส่วนประเด็นเรื่องการซ่อมแซมหรือสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในพื้นที่ของหน่วยงานอื่นๆของ อปท. นั้น ได้มีการหารือทำความเข้าใจและหาแนวทางในการร่วมมือกันโดยขอให้อปท.แจ้งเรื่องการสร้างแหล่งน้ำและถนนให้กับกรมป่าไม้และกรมอุทยานทราบก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

15 มกราคม 2566