ทำไม ไม่ควร ยุบ กอ.รมน.???
กอ.รมน.ตั้งโต๊ะแถลง
หลัง นายกฯโดนถล่ม ไม่ยุบ กอ.รมน.
“พลเอก”หน้าห้อง “บิ๊กต่อ” พร้อม โฆษก
ลั่น ไม่ใช่ รัฐซ้อนรัฐ
ไม่ใช่หน่วยงานสูงสุดของประเทศ
แจง งบ 7,000 ล้าน งบฯปกติ
ไม่ใช่งบฯลับ
งบฯลับ แค่10 ล้าน และตรวจสอบได้
กำลังพล ส่วนใหญ่ อยู่ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า 5หมื่นคน
ยัน ภารกิจไม่ซ้ำซ้อน
แต่บูรณาการงานความมั่นคงกับหน่วยงานอื่น
ชี้ หากยุบ กอ.รมน. ภารกิจก็ต้องไปกองรวม ที่ สมช.
กระทบ ปัญหาชายแดนใต้ แน่
พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. พร้อมด้วย พล.ท. ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย อดีตรองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. และพล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. แถลงข่าว ที่ห้องประชุมอาคารพระตำหนักเพชรรัตน์ สวนรื่นฤดี กอ.รมน. (ส่วนกลาง)
ชี้แจงกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติความมั่นคง พ.ศ.2551 และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ภารกิจการจัดของ กอ.รมน.ที่คลาดเคลื่อนไป
พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. ได้ย้ำถึงบทบาทของ กอ.รมน.ว่า เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ประสานงานและประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรโดยเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรี เสริมการปฏิบัติหน่วยงานของรัฐ เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ
รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคม ตามมาตรา 7
ส่วนอำนาจหน้าที่ตาม มาตรา 15 เช่นการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องได้รับมอบหมายโดยมติคณะรัฐมนตรี และไม่ได้มีภารกิจซ้ำซ้อนหน่วยงานใด
พล.อ.นพนันต์ ได้กล่าวถึงจัดการองค์กรว่าเป็นไปตามระบบราชการ และเป็นสากล เพราะการแก้ปัญหาความมั่นคง จำเป็นต้องมีการอำนวยการร่วม และบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ๆ หากจะยุบ กอ.รมน.นั้น ภารกิจดังกล่าว ๆ ก็จะต้องโอนกลับไปยัง สมช. ซึ่งก็จำเป็นจะต้องเพิ่มอัตรากำลังคนอีก และจะเป็นภาระงบประมาณของประเทศด้วย
สำหรับกรณีที่มีการกล่าวถึงงบ กอ.รมน.เป็นงบลับ นั้น พล.ต.วินธัย ฯ ชี้แจงว่า ในงบประมาณ 7,000 กว่าล้านบาทของ กอ.รมน.นั้น เป็นงบประมาณในระบบงบประมาณปกติ ไม่ใช้งบลับ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในภารกิจการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายตอบแทนในด้านกำลังพล รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของพลเรือน ตำรวจ และทหารจำนวน เกือบ 5,000 ล้านบาท
ส่วนค่าใช้จ่ายที่ถูกจัดไว้ในหมวดรายจ่ายงบลับของ กอ.รมน. นั้นอาจมีเพียงราว ๆ 10 ล้านบาทเท่านั้น โดยเงื่อนไขการใช้จ่ายยังคงต้องเป็นไปตามระเบียบทางราชการทุกประการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบราชการ แต่ในระยะหลังงบในส่วนนี้จะไม่มีแล้ว
พล.อ.นพนันต์ ยืนยันเพิ่มเติมว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวของ กอ.รมน. ไม่มีอภิสิทธิ์ในการเลี่ยงการตรวจสอบใด ๆ มีการตรวจสอบ และถ่วงดุล และงบประมาณดังกล่าวแต่เป็นงบที่บุคลากรได้รับตามสิทธิ เมื่อต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยอดเจ้าหน้าที่ราว 50,000 คน ซึ่งมีทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร
ส่วนการกล่าวหา กอ.รมน.เป็นรัฐซ้อนรัฐนั้น การจัดองค์กร กอ.รมน.นั้น ไม่ได้ซ้ำซ้อน แต่ผู้เสนอยังไม่ได้พิจารณาในมุมทางกฎหมาย ซึ่งการจัด กอ.รมน. จะเป็นระบบทหาร ผสมกับพลเรือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดย กอ.รมน.ไม่ใช่ลักษณะรัฐซ้อนรัฐ และไม่ใช่หน่วยงานสูงสุดของประเทศ แต่เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติ
การจัดหน่วยงานอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการอำนวยการของ กพ. กพร. และต้องได้รับการตรวจสอบต่อรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระ เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่น ๆ และไม่ได้ทำให้อำนาจทหาร อยู่เหนือพลเรือน เพราะหน่วยงานผู้มอบหมายงานในปัจจุบันคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ซึ่งก็เป็นหน่วยงานระดับพลเรือน ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะ ผอ.รมน. ซึ่งเป็นฝ่ายพลเรือน
พล.ต. วินธัย กล่าวถึงหากไม่มี กอ.รมน. ก็อาจจะไม่มีหน่วยงานหลักที่สามารถบังคับใช้ และดำเนินการรักษาความมั่นคงภายใน ทำให้ฝ่ายบริหารอาจขาดเครื่องมือสำคัญในการทำงานด้านความมั่นคง ที่จะต้องมาขับเคลื่อนและบูรณาการการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมยุคปัจจุบัน
และอาจไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจาก กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคงในหลายด้าน โดยเฉพาะกรณีการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้ ที่ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งหากยุบกลไกเครื่องมือการแก้ปัญหาไป แต่ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่ ก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน