15 พฤศจิกายน 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ตว่า เข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 73 ( 5 ) ( 1 ) ประกอบมาตรา 159 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 หรือไม่ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 20 ปี
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคในขณะนั้น พูดมาโดยตลอดว่า จะไม่มีการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ มีการทำหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยชี้แจงมายัง กกต. ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถึงที่มาของเงินที่จะใช้ ถือเป็นพยานหลักฐานชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ดำเนินการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้
แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลและนายเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แถลงเมื่อเร็วๆนี้ว่า จะดำเนินการกู้เงินโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงขัดแย้งกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงกับ กกต.ก่อนหน้านี้ จึงเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการหลอกลวง จูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มาลงคะแนนเสียงให้กับพรรคตนเองหรือไม่
ส่วนที่รัฐบาลระบุว่า จะมีการลดสัดส่วนคนที่ได้รับแจก และแนวทางการหาเงินมาใช้กับโครงงานนี้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนคิดว่าในข้อกฎหมาย พ.ร.บ.เลือกตั้ง ปี 2561 มาตรา 72 และมาตรา 5 เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การหาเสียงคือ
1.จะต้องไม่ให้ ไม่เสนอให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด
2.ไม่ให้มูลนิธิ วัด สถานบันการศึกษา
ข้อห้ามได้ระบุไว้ชัดเจน คือ ห้ามจูงใจที่จะทำให้เกิดความนิยมในพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นการกระทำเช่นนี้มีกฎหมายควบคุมอยู่ ในเมื่อพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามที่ตนเองหาเสียงไว้ ก็จะต้องมีความผิด โทษมีทั้งจำคุกและปรับ รวมถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 10 ปี
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ กกต. ยกคำร้องนี้ไปแล้วและระบุว่า ไม่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ นายศรีสุวรรณชี้แจงว่า เขาอ้างว่าเป็นการใช้เงินงบประมาณตามปกติ แต่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ระบุไว้ชัดเจนว่า การที่จะออกกฎหมายกู้เงินนั้น ต้องมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้การร้องเรียนครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะร้องครั้งที่แล้วไม่มีเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน เราร้องเพียงว่าการออกนโยบายแบบนี้ไม่น่าเป็นไปได้ และเมื่อเขาอ้างว่า เป็นการใช้เงินแผ่นดิน จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามที่เคยร้อง
แต่ครั้งนี้เข้าข่ายความผิดแล้ว และวันที่ 17 พ.ย.นี้ ตนจะไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เนื่องจากว่าเขาพูดมาตลอดว่าจะไม่กู้เงิน โดยนายกฯพูดผ่านสื่อและเวทีหาเสียง แต่มาวันนี้จะมากู้เงิน จึงถือว่าเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชน อาจเข้าข่ายความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง