วันที่ 19 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ นายณัฐวิชช์ เนติจารุโรจน์ และนายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้นัดสื่อมวลชนที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เปิดแถลงข่าวโต้ กรณีพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ออกหมายเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน ”BNK Master” เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา แต่ปรากฏภาพ พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจนครบาล 1 ในผู้ต้องหาคดีมินนี่ ไปปรากฏกายในงานแถลงข่าว พร้อมทั้งกล่าวตอบโต้ข้อมูลหลายประเด็น เพื่อหักล้างแนวทางการปฏิบัติของชุดคลี่คลายคดี
ด้วยเหตุนี้ทำให้สาวกโซเชียล และเพจข้าราชการตำรวจหลายเพจตั้งข้อสงสัยว่า พล.ต.ต.นำเกียรติ กล้าเดินทางไปร่วมแถลงข่าวได้อย่างไร ในเมื่อตนเองก็เป็นผู้ต้องหา อีกทั้ง ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.ก็ได้มีคำสั่งด่วนที่สุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง กำชับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน ถึง รอง ผบ.ตร. และ จตช. ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รอง จตช. ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า และ ผบก. หรือตำแหน่งเทียบเท่าไปแล้ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลเสียต่อ พล.ต.ต.นำเกียรติ มากขึ้นไปอีก ทั้งภาพลักษณ์ ความเชื่อมโยงกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และกลุ่มผู้ต้องหา โดยอาจทำให้เจ้าตัวถูกดำเนินการทางวินัยและอาญาส่งผลให้ตัวเองต้องยุติบทบาทข้าราชการเร็วกว่ากำหนด
โดยคำสั่งด่วนที่สุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง กำชับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน ที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ แจ้งถึงผู้ใต้บังคับบัญชา ดังกล่าว มีข้อความว่า ด้วย ปรากฏมีเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ตร. จากการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือคลุมเครือในประเด็นต่าง ๆ ต่อประชาชนและสังคมมากยิ่งขึ้น อันเกิดจากข้อมูลที่ไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างครบถ้วน เนื่องด้วยมีกระบวนการ ขั้นตอน หรือข้อจำกัดทางกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
อีกทั้งในบางประเด็นมิได้มีความจำเป็นหรือเกิดประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจของ ตร. แต่อย่างใด ซึ่ง ตร. มีระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2556 ลง 11 มี.ค.56 ให้ข้าราชการตำรวจถือปฏิบัติไว้แล้ว
เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และเป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกันของการพิจารณาในการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ จึงกำชับดังนี้
1. ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 ดังกล่าวข้างต้นอย่างเคร่งครัด และให้ใช้วิจารณญาณ ประกอบดุลยพินิจที่มีพื้นฐานบนประโยชน์สาธารณะ และภาพลัษณ์ขององค์กรเป็นสำคัญ ไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะของการบ่อนทำลาย หรือมุ่งที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์หรือกระแสสังคมเพื่อบั่นทอนภาพลักษณ์ หรือการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ หรือสร้างสภาวะเกื้อกูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน
2. การให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ กรณีเหตุที่เกิดหรือประเด็นข้อพิพาท ข้อสงสัยในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานของ ตร. หรือข้าราชการตำรวจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย หรือมากกว่านั้น ให้ผู้ได้รับแต่งตั้ง หรือรับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าหน่วยงาน ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโฆษกของหน่วยงานเป็นผู้ให้ข่าวตามหน้าที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรณีเป็นคดีความที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือคดีอาญาสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจในวงกว้างและอาจส่งผลกระทบต่อ ตร. และให้ถือปฏิบัติตามสั่งการ ว.ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0001(ศปก.ตร.)/91 ลง 7 มิ.ย.60
ทั้งนี้หากพบการกระทำฝ่าฝืนในเรื่องที่กำชับไว้ดังกล่าวอันมีลักษณะเข้าข่ายของการกระทำที่เป็นความผิดวินัย หรืออาญา จะพิจารณาดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.ได้ลงนามในคำสั่งเอาไว้เพื่อถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด.