20 เม.ย.2567 นาย จำนงค์ ไชยมงคล ผช.รมต.ประจำกลาโหม รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากลาโหม วันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งมี นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม ซึ่งมีการประชุมที่กองทัพอากาศ ได้เสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม(ฉบับที่…) พ.ศ…. และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่…)พ.ศ….
โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมที่น่าสนใจดังนี้ 1.ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม มีการแก้ไขมาตรา 25 และมาตราอื่นๆโดยมีการ กำหนด เงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งนายพลในแต่ละระดับไว้ 3 ประการ คือ
(1) ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม
(2) ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการ
(3) ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือความผิดลหุโทษ
นอกจากนี้ยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใด ที่ใช้กำลัง ทหาร เพื่อยึดหรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ
และมีการแก้ไข เพิ่มเติมเรื่องสมาชิกสภากลาโหม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 3 คน และยังมีการแก้ไขอีกหลายมตรา
2. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ พระธรรมนูญศาลทหาร โดยมีการ ยกเลิก ศาลจังหวัดทหาร และให้ผู้เสียหาย มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ทั้งในเวลาปกติและเวลาไม่ปกติ และ มีสิทธิอุทธรณ์ ได้โดยตรงต่อศาลทหารสูงสุด ในเวลาไม่ปกติ เว้นแต่อยู่ในสถานการณ์การรบหรือสงคราม ซึ่งเดิม ในภาวะที่ไม่ปกติไม่สามารถอุทธรณ์ได้
ซึ่งการแก้ไข กฎหมายดังกล่าวนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้อง กับการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปัจจุบัน
นายจำนงค์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมที่ผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหม ในประเด็นสกัดการรัฐประหารนั้น เป็นแนวทาง ที่สังคม ภาคประชาชน และ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง คิดมานานแล้ว เมื่อนายสุทินเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก็ได้มีคณะทำงานหารือกัน ในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน มีตัวแทนขอทหารเข้ามาพิจารณาด้วย และเห็นชอบตรงกันก็เสนอเข้าที่ประชุมเมื่อวานนี้ สภากลาโหมก็ได้ให้ความเห็นชอบโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็ไม่ได้แสดงความเห็นอะไร
“แน่นอนว่าการรัฐประหารยึดอำนาจ ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ การไปเขียนไว้ใน รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร และจะให้เขียนเรื่องเหล่านี้ไว้ก็เป็นสิ่งที่ยาก เราจึงคิดกันว่าควรจะไปบัญญัติในกฎหมายรองมากกว่า หลักใหญ่ใจความคือ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีข้อมูลที่จะมีการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะ เป็นทหารระดับไหน นายกรัฐมนตรี สามารถขอความเห็นชอบ จากคณะมนตรีในการระงับยับยั้ง หรือให้ผู้นั้นพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปได้” นายจำนงค์ กล่าวและว่า
หลักการนี้เป็นเรืองที่มีการพูดคุยกันของฝ่ายประชาธิปไตยมานานแล้ว และต้องการให้เกิดกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นมา จึงต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ขั้นตอนต่อไปก็จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป