สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายคงเดชา ชัยรัตน์ (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า กระทำการโดยนำมาตรการทางการคลัง ด้วยการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มาดำเนินการ
พร้อมทั้งขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุใด และไม่ให้ใช้เงินจากหน่วยงานของรัฐที่ขัดต่อขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์หน่วยงานนั้น และขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งให้ใช้งบประมาณของแผ่นดินที่ชอบด้วยวิธีการงบประมาณและมีความคุ้มค่า
สำหรับคำฟ้องของนายคงเดชา (ผู้ฟ้องคดี) สรุปความได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐบาลเลือกที่จะแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป เฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือน และ/หรือมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท เท่านั้น หรือเป็นจำนวนประชาชน ประมาณ 50 ล้านคน เท่านั้น
ในขณะที่ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ทุกคน รวมถึงประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป แต่มีรายได้ตั้งแต่ 70,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และ/หรือ มีเงินฝากตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 16 ล้านคน กลับไม่ได้รับแจกเงิน 10,000 บาท จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง อายุ และฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมวด 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการทางการคลัง ด้วยการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังมีการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง ได้แก่ การจะนำเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้ดำเนินการโดยขัดต่อขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 รวมทั้งขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ นายคงเดชา ได้มีคำขอให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา เนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการคลัง ด้วยการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท เป็นการกระทำที่อาจจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายประการ หากผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ไปก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษา และต่อมาศาลปกครองมีคำพิพากษาสั่งห้ามมิให้กระทำเรื่องนี้ อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ นายคงเดชา (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 15/2567) ว่า การกระทำของพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 1) ที่นำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้มาจากเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
และการมีพฤติการณ์ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 4) ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง ทำให้การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย การกระทำของคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่นำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
การกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 3) ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชน กระทำการเป็นสื่อมวลชนประเภทสื่อออนไลน์ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี และมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
และการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 4 ที่อาจเป็นการชี้นำกิจกรรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพทางการเมือง เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายคงเดชา ไว้พิจารณาเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ และยังไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสี่กระทำการใดๆ ที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง คำร้องเป็นเพียงการแสดงความเห็นต่างของผู้ร้องเท่านั้น