30 มิ.ย.2567-นายสมชาย แสวงการ สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตนฐานะประธานกมธ.ฯ ได้ลงนามในหนังสือซึ่งเป็นไปตามมติของกมธ. ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ต่อกรณีการดูแลผู้ต้องขังของระบบราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อย่างไรก็ดีในหนังสือที่ส่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนั้น ตนไม่ได้ระบชื่อใคร แต่ขอให้ตรวจสอบบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะต่อเนื่องในความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
นายสมชาย กล่าวว่า ในเรื่องของนายทักษิณ กรณีที่ถูกส่งตัวไปรักษาสถานพยาบาลนอกเรือนจำนั้น กมธ.ได้ติดตามอย่างต่อเนื่องและเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องชี้แจงภายใต้กมธ. แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ทั้งที่การขอเอกสารหรือรายละเอียดต่างๆ นั้นเป็นไปภายใต้การทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การอนุมัติให้อยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ เป็นไปอย่างถูก้ต้องหรือไม่ เอกสารประกอบความเห็นของแพททย์ ภาพถ่ายบันทึกภาพผู้คุมกับนักโทษที่รักษาตัวนอกเรือนจำ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปตามการปฏิบัติงานทั้งสิ้นน แต่ กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ให้ข้อมูล จึงถือว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าไม่ได้ดำเนินการตามระบบที่ถูกต้อง กมธ.จึงส่งให้ ป.ป.ช. สอบต่อ
“มติของ กมธ. ที่ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบข้อเท็จจริง เพราะเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ทั้งนี้การตรวจสอบ เรื่องการดูแลผู้ต้องขังของระบบราชทัณฑ์นั้น เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของกมธ. แต่กรณีของนายทักษิณ ที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่รับผิดชอบไม่ได้ให้รายละเอียด ส่วนกรณีที่ระบุว่าเป็นเรื่องสิทธิของผู้ป่วยที่ได้รับความคุ้มครองนั้น กมธ.ไม่มีเจตนาที่จะนำไปเปิดเผยแต่อย่างใด ดังนั้นการไม่ส่งมอบเอกสารหรือรายละเอียดที่กมธ.ขอให้นำส่งเพื่อประกอบการตรวจสอบและศึกษานั้น ถือว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติมิชอบ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่จงใจใช้อำนาจขัดกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และ มาตรฐานจริยธรรมรายแรงหรือไม่”
นายสมชาย กล่าวว่า การส่งหนังสือดังกล่าวถือเป็นการทำหน้าที่ฐานะสว. จนวันสุดท้าย โดยฐานะที่ตนเป็นสว.ชุดที่ 12 ถือว่ากรณีการส่งหนังสือให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบรอบนี้ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการประสานการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่การลุแก่อำนาจ ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้น ป.ป.ช. ได้ลงเลขรับไว้ในระบบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ตั้งประเด็นการตรวจสอบดังกล่าว ซึ่งเป็นการติดตามการบริหารจัดการดูแลผู้ต้องขังของระบบราชทัณฑ์ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเท่าเทียม และกรณีของนายทักษิณ ที่กลับเข้าประเทศ เมื่อ 22 ส.ค.2566 และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนและสังคมให้ความสนใจ รวมถึงมีกรณีวิจารณ์และข้อสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ที่ผ่านมา กมธ.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ สำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากการรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นพบว่าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจขัดต่อกฎหมาย จึงมีมติส่งรายละเอียดที่ได้ตรวจสอบ ซึ่งมีเนื้อหากว่า 300 หน้า ให้กับ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบ.