ลากิจ พา นร.ไปดู 4 king
ปปช.มีมติชี้มูล 6:1 จริยธรรม “ไม่ร้ายแร” ให้ส่งเรื่องกลับไป สภาผู้แทนราษฏร พิจารณา แต่เหตุด้วย พ้นจาก ส.ส.ไปแล้ว จึงยุติเรื่อง
จากกรณีปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ชี้มูลความผิด นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม จากการลาประชุมสภาผู้แทนราษฏรไปชมภาพยนต์เรื่อง “4 KINGS อาชีวะ ยุค 90” เมื่อปี 2564
ล่าสุด 18 ก.ค.67 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำวินิจฉัยข้อร้องเรียน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม จากการลาประชุมสภาผู้แทนราษฏรไปชมภาพยนต์เรื่อง “4 KINGS อาชีวะ ยุค 90” เมื่อปี 2564 จริง
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า พฤติการณ์ของนายมงคลกิตติ์ เข้าข่ายไม่เหมาะสมผิดจริยธรรมแต่ไม่ร้ายแรง ขณะที่ปัจจุบัน นายมงคลกิตติ์ พ้นจากตำแหน่ง สส.ไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฏรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามข้อบังคับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก
เมื่อถามว่า นายมงคลกิตติ์ ระบุว่า ป.ป.ช.ไม่เคยเรียกตนเองไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอะไรก่อนที่จะมีมติ นายนิวัติไชย กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการวินิจฉัยเรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่คดีผิดจริยธรรมร้ายแรงที่เมื่อมีการชี้มูลแล้วจะต้องส่งเรื่องฟ้องศาล จึงไม่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาให้มาชี้แจงอะไร
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังระบุด้วยว่า ส่วนรายละเอียดคำวินิจฉัย ป.ป.ช.ในเรื่องนี้ ภายหลังจากที่มีการรับรองรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการจะทำเอกสารเผยแพร่ข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป
รายงานข่าวจาก ป.ป.ช.แจ้งว่า สำหรับการไต่สวนคดีนี้ คณะกรรมการไต่สวนเสียงข้างมากเห็นว่า การทำแบบแจ้งลาการประชุมไปชมภาพยนตร์ ของนายมงคลกิตติ์ ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น ซึ่งไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงไม่เป็นการไม่อุทิศเวลาให้แก่การประชุม และขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น ตามข้อ 14 แห่งข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563
แต่การออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดินทางไปชมภาพยนตร์ ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับทำการโพสต์พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเองเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎธ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรฐานทางจริยธธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 และเป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติและสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 10
เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าว ประกอบกับเจตนาและความเสียหายแล้ว มีลักษณะไม่ร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 27 วรรรคสอง และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ ข้อ 29 วรรคสอง
ประกอบกับปัจจุบันผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 อีก