เช้านี้ (16 ก.ย.) ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาในคดี ม.112 ของ #สายน้ำ กรณีสวมใส่เสื้อครอปท็อป และเขียนข้อความบนร่างกาย ในการเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อปี 2563
ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงโทษสุดท้ายเป็นจำคุกในข้อหา ม.112 รวม 12 เดือน และปรับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4,000 บาท พร้อมกับรอการลงโทษไว้ 2 ปี
พฤติการแห่งคดี วันที่ 20 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “สายน้ำ” นักกิจกรรมผู้ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายในการชุมนุม #ภาษีกู เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขก บนถนนสีลม
คดีนี้มี วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ “เชียร์ลุง” เป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ยานนาวา และพนักงานอัยการคดีเยาวชนมีคำสั่งฟ้อง “สายน้ำ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า สายน้ำได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา บุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ”
การอ่านคำพิพากษาเกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 สายน้ำ, มารดาของสายน้ำ, ที่ปรึกษากฎหมาย, ผู้ไว้วางใจมารออยู่ที่ห้องพิจารณา นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ติดตามคดีเยาวชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
เวลา 09.43 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 อีกทั้งมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ชนชาวไทย มีหน้าที่พิทักษ์ดำรงรักษาไว้ทั้งเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นผู้ใดจะแสดงกิริยาล้อเลียนเสียดสีหรือแสดงพฤติกรรมเลียนแบบว่าเป็นพระมหากษัตริย์ไม่ได้
ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ศาลพิเคราะห์จากบริบท พฤติการณ์ของจำเลย และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมชุมนุมกับผู้ชมในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นโชว์ดังกล่าวมีเจตนาสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ การที่จำเลยแต่งกายสวมครอปท็อป แสดงกิริยาโบกไม้โบกมือ คล้ายจำลองเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเยี่ยมราษฎร ถือเป็นการล้อเลียนเสียดสี ไม่ใช่การแสดงออกตามมุ่งหมายรัฐธรรมนูญหรือการแสดงออกโดยสุจริตแต่อย่างใด และเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ
สำหรับข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และแม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากการชุมนุมดังกล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่รัฐบาลได้มีการออกข้อกำหนดและข้อบังคับใช้เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว ดังนั้นการชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนด จึงถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากฝั่งพยานโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว และจำเลยไม่ได้ขึ้นปราศรัย โดยใช้เครื่องขยายเสียง จำเลยจึงไม่มีความผิดในสองข้อหานี้
ศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลย ขณะเกิดเหตุยังเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และลงโทษปรับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 6,000 บาท
เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษอีก 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 12 เดือน ปรับ 4,000 บาท คำนึงถึงจากการโดนดำเนินคดีเป็นครั้งแรก ประกอบกับพิเคราะห์จากนิสัย ความสามารถ และสติปัญญาของจำเลยเห็นว่าจำเลยสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 2 ปี และให้รายงานตัวต่อคุมประพฤติทุกๆ 3 เดือน
อ้างอิง : ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิฯ