จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้นำเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 และมีการส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาเพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ปรากฏว่า อสส.มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น จึงส่งสำนวนกลับ ป.ป.ช. ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ฟ้องคดีเอง และมีการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา ไปรายงานตัวต่อศาลเพื่อฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ก.ย.2567 นี้
โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดคดีอาญา มี 2 ราย คือ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ และ นายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ย.2567 นายทนง พิทยะ ได้เดินทางมาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อรายงานตัวส่งฟ้องคดีนี้ตามการนัดหมายของ ป.ป.ช. ในช่วงเวลา 09.30 น.
อย่างไรก็ดี นายทนง แจ้งว่า ยังไม่ขอให้สัมภาษณ์ในขณะนี้
ต่อมาเวลาประมาณ 10.10 น. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เดินออกมาบริเวณหน้าศาลฯ พร้อมแจ้งผู้สื่อข่าวว่า ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้รับอนุญาตให้ข่าวได้ จึงไม่สามารถให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนได้
ส่วนนายทนง เดินออกมาบริเวณหน้าศาล เวลาประมาณ 12.00 น. พร้อมแจ้งว่าไม่ให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์และห้ามถ่ายภาพ
ขณะที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า นายทนง พิทยะ จำเลยที่ 1 นายกวีพันธ์ เรืองผกา จำเลยที่ 2 คดีนี้ศาลฯ รับคดีไว้พิจารณา เป็นคดีอาญาหมายเลขดําที่ อท 152/2567 ให้จําเลยทั้งสองแต่งทนายความ และให้นัดสอบคําให้การจําเลยในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 น.
ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยทั้งสองและมีคําสั่งห้ามจําเลยทั้งสองออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
สำหรับข้อกล่าวหาคดีนี้ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นกรณีกล่าวหา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พฤติการณ์ในคดีนี้ ระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวกร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B777-200Er จำนวน 6 ลำและเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 เพิ่มเติม รวม 7 เครื่อง ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ขณะที่ การกระทำของ นายทนง พิทยะ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 , นายกวีพันธ์ เรืองผกา มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์พ.ศ. 2537 ข้อ 13.2.1 และข้อ 13.2.2
ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี นายสมใจนึก เองตระกูล พลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายถิรชัย วุฒิธรรม นายธัชชัย สุมิตร นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชัย เจริญรัตนกุล นายโอฬาร ไชยประวัติ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย นายชาติศิริ โสภณพนิช นายวิโรจน์ นวลแข นายกอบชัย ศรีวิลาส นายทัศนัย สุทัศน์ณ อยุธยา นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ เรืออากาศโทวีรชัย ศรีภา เรืออากาศโท ชินวุฒิ นเรศเสนีย์ นายชาญชัย สิงห์โตโรจน์ และนางแสงเงิน พรไพบูลย์สถิตย์ จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป