วันนี้ (10 พ.ย.) แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อช่วง ต.ค.ที่ผ่านมา โดย ผบ.ตร.กำชับตำรวจทุกนาย ว่า ต้องให้บริการประชาชนทุกคนอย่างเป็นธรรมและรักษากฎหมาย ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องเร่งรัดและตั้งใจทำงานในคดีต่างๆ ที่สังคมให้ความสนใจในช่วงนี้อย่างรวดเร็ว เช่น คดีป๋าเบียร์และแม่ตั๊ก กรณีฉ้อโกงประชาชนในการหลอกขายทองคำ คดี ดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่มีการฉ้อโกงประชาชน คดี นางศิรินัดดา หักพาล ถูกแจ้งความว่าลักทรัพย์และบุกรุกคอนโดมิเนียมของ น.ส.ธณัฎฐา ยอดเยี่ยม (หนิง) และนายตำรวจยศ พ.ต.อ. ซึ่งต่อมา นางศิรินัดดา แจ้งความกลับว่า นางธนัฏฐา และสามี แจ้งความเท็จ รวมถึงคดี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด คดีตำรวจ 6 นาย ร่วมกันอุ้มและรีดทรัพย์ชาวจีน คดีบ่อนและพนันออนไลน์ คดีทุนจีนสีเทา คดีหลอกลวงประชาชนทางสังคมออนไลน์ การจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่จำนวนมาก และคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจาก ผบ.ตร.ให้นโยบายกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ทุกคดีที่เกิดขึ้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงที่ดีและกอบกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจให้สังคมเชื่อมั่นอีกครั้ง หากตำรวจรายใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ผบ.ตร.เน้นว่าต้องดำเนินคดีถึงที่สุดอย่างเด็ดขาดทุกราย
แหล่งข่าว เปิดเผยอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำเรื่องขอเวชระเบียนการรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่รับโทษ จากโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น14 ไปถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับนั้น ทาง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ บอกสื่อมวลชนไปแล้วว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระติดต่อขอข้อมูลการรักษาตัวของนายทักษิณ จากโรงพยาบาลตำรวจ แต่ในส่วนของการบริหารราชการ ถึงแม้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ จะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่อำนาจสิทธิขาดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจ ที่จะต้องพิจารณาคำร้องขอว่าสามารถให้ได้หรือไม่ อย่างไร เพราะ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยืนยันว่า ประเด็นนี้โรงพยาบาลตำรวจไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจาก ผบ.ตร. ส่วนเรื่องดังกล่าวจะมีนัยอะไรหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่กำชับให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า ตอนนี้ฝ่ายการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม พยายามกดดัน ผบ.ตร.ว่า ต้องสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจส่งข้อมูลของนายทักษิณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ หาก ผบ.ตร.ไม่กระทำ อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 นั้น หากพิจารณาสิ่งที่ ผบ.ตร.กล่าวกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขอชี้แจงว่า กรณีของนายทักษิณนั้น ผบ.ตร. จะไม่แทรกแซงการทำงาน การพิจารณาและการตัดสินใจของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ที่ต้องพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่ขอให้ไล่เรียงไทม์ไลน์กรณีนี้ด้วยว่า นายทักษิณ กลับประเทศและไปรายงานตัวต่อศาลและเข้าเรือนจำในวันที่ 22 ส.ค. 66 และรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน โดยช่วงนั้นผู้บังคับบัญชาที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อดีต ผบ.ตร. โดยช่วงนั้น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้รับการแบ่งงานจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ให้กำกับดูแลหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.), ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มอบให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม
“หากพิจารณาไทม์ไลน์อย่างเป็นธรรม จะพบว่า การรับผิดชอบหน้าที่ของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ในช่วงที่เป็น รอง ผบ.ตร. กับกรณีนายทักษิณ ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น จะพบว่าในช่วงนั้น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลตำรวจเลย แต่กระแสกดดันจากหลายฝ่ายในตอนนี้พยายามโยงว่า ผบ.ตร. อาจไม่ร่วมมือในการให้ข้อมูลของนายทักษิณ และอาจมีความผิดไปด้วยนั้น ต้องพิจารณาข้อกฎหมายและเคารพการพิจารณาของคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจในกรณีนี้ด้วย หากบางฝ่ายระบุว่า ผบ.ตร. มีอำนาจสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจดำเนินการในเรื่องนี้ได้นั้น ควรพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายที่มอบให้ ผบ.ตร.รับผิดชอบด้วยว่ากระทำหรือไม่กระทำอะไรได้บ้าง ยืนยันว่า แม้วันนี้ ผบ.ตร.มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ ผบ.ตร.ก็ต้องเคารพกฎหมายเหมือนประชาชนทุกคน ดังนั้น ผบ.ตร.จะกระทำในสิ่งนอกเหนือกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไม่ได้” แหล่งข่าวระบุ