ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » นิรโทษสุดซอย !! เพื่อไทย เดินเต็มสุด ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมแล้ว

นิรโทษสุดซอย !! เพื่อไทย เดินเต็มสุด ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมแล้ว

9 December 2024
57   0

8 ธ.ค.2567 – นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชี้แจงกรณีการนำเสนอกฎหมาย และการประชุมสภาฯ ในขั้นตอนการเปิดสภาฯ ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ว่า สภาฯ คงจะพิจารณากฎหมายไปตามระเบียบวาระที่ค้างอยู่ก่อนปิดสมัยประชุมครั้งที่แล้ว ซึ่งจะมีกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยจะนำเสนอ และพิจารณาพร้อมกันไปกับร่างที่ค้างอยู่ในการประชุมสภาฯ คือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่ขณะนี้คณะกรรมการกฎหมายของพรรคพิจารณายกร่างเสร็จสิ้นแล้ว จะนำเข้าที่ประชุม สส.ของพรรค เพื่อให้ความเห็นชอบ และร่วมลงชื่อเสนอสภาฯ ต่อไป

“สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยเสนอ คือการนิรโทษกรรมความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้รูปแบบคณะกรรมการมาพิจารณา และมีบัญชีแนบท้ายว่า ความผิดอันใดบ้างที่จะได้รับนิรโทษกรรม” นายชูศักดิ์ ระบุ

นายชูศักดิ์ ระบุด้วยว่า นอกจากนั้น สภาฯ คงจะต้องพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ ที่จะยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่กรรมาธิการร่วมพิจารณา ซึ่งพรรคเพื่อไทยคงต้องไปหารือในวิปรัฐบาล แต่ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า เราพิจารณากันในชั้นสภาฯ ในการยืนยันการลงมติเสียงข้างมากชั้นเดียวเป็นเอกฉันท์ ที่พรรคคงต้องยืนตามนี้ อันจะนำไปสู่การต้องยับยั้งร่างไว้เป็นเวลา 180 วัน

นายชูศักดิ์ ระบุด้วยว่า ส่วนเรื่องของการประชุมรัฐสภานั้น น่าจะพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีหลายร่างมาก สะสมมาตั้งแต่สภาฯ ตอนแรกๆ ซึ่งคงต้องให้วิปสามฝ่ายหารือร่วมกันว่าจะเอาร่างใดบ้าง โดยส่วนตัวมองว่า หากเห็นว่าจะใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามขั้นตอนนี้ ก็อยู่ในกระบวนการที่แต่ละฝ่ายกำลังดำเนินการกันอยู่ และเกี่ยวโยงไปถึงกฎหมายประชามติ จึงคิดว่าควรพุ่งเป้าไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะดีกว่าหรือไม่

“โดยประธานสภาฯ และวิปควรหารือแนวทางที่จะให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง หากจะพิจารณากันไปทีละร่างในตอนนี้ ก็ต้องคิดคำนึงทั้งรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และที่สำคัญคือ สว.เห็นอย่างไร เพราะการพิจารณายังอยู่ในหลักทั่วไป เช่น ในวาระที่หนึ่งต้องมี สว.เห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม จะต้องได้เสียงจากรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง จึงต้องหารือกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็จะเสียเวลาเปล่า” นายชูศักดิ์ ระบุ.