เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » คุกแอป์ 3 นิ้ว !! เด็กพรรคส้ม ใส่ร้ายในหลวง 1ปี 3 เดือน คอตกเข้าเรือนจำ

คุกแอป์ 3 นิ้ว !! เด็กพรรคส้ม ใส่ร้ายในหลวง 1ปี 3 เดือน คอตกเข้าเรือนจำ

9 December 2024
27   0

9 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมทางการเมืองและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.3081/2564 คดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา64 #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมี พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลสําราญราษฎร์ กับพวกเป็นผู้กล่าวหา ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 358, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)

ต่อมา กชพรพรรณ วณิชยาชัยสิริ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายฟ้องมีใจความว่า จําเลยกับพวกซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกสํานวนการสอบสวนไปดําเนินการอีกส่วนหนึ่งแล้ว ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเวลาที่ประกาศและข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้ จําเลยกับพวก 8 ราย ได้แก่ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, อรรถพล บัวพัฒน์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ธนาธร วิทยเบญจางค์, ณัฏฐธิดา มีวังปลา และเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ได้ร่วมกันนํารถยนต์บรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงใช้เป็นเวทีปราศรัย และมีการนําผ้าสีแดงยาวประมาณ 30 เมตร มาปูบนพื้นผิวถนนให้กลุ่มผู้ชุมนุมเขียนข้อความและนําไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็นการร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ เป็นเหตุให้รถยนต์และประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนสัญจรไปมาได้ตามปกติ และเป็นการร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากนั้นได้ร่วมกันชุมนุมจัดทํากิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอํานาจให้ประชาชน” ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการยกเลิกความกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

2. ขณะที่ทำกิจกรรมดังกล่าว จําเลยได้หมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัชกาลที่ 10 ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทวงถามเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชน อันไม่ใช่การกระทําภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เป็นการหมิ่นประมาทใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสีย ทําให้ประชาชนที่หลงเชื่อข้อความที่จําเลยได้พูดปราศรัยเสื่อมศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

3. จําเลยกับพวกได้ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงประกาศโฆษณาสั่งการให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปยังบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นําต้นไม้ที่วางประดับรอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทําให้กิ่งก้านต้นไม้ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ได้ฉีกขาดหักเสียหาย จํานวน 8 รายการ รวมราคา 5,968,000 บาท

4. ในการที่จําเลยกับพวกร่วมกันปราศรัย แสดงความคิดเห็นต่อประชาชนที่มารวมกลุ่มชุมนุมทางการเมือง จำเลยได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 7 เดือน 

ในวันที่ 26 เมษายน 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 358, มาตรา 385, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยข้อหาตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ส่วนในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 358, มาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด คือ ฐานทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท ทั้งที่ในข้อหานี้ตามมาตรา 9 กฎหมายได้ระวางโทษปรับไว้เพียงไม่เกิน 200 บาทเท่านั้น

จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,500 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันหลายคดี จึงไม่รอการลงโทษ หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 16.57 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยให้วางหลักประกันตัว 100,000 บาท 

ทั้งนี้ แอมป์ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 6 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 

อุทธรณ์พิพากษายืน ม.112 แอมป์-ณวรรษ จำคุก 1 ปี 7 เดือน ต้องเข้าเรือนจำรอคำสั่งประกัน

Untitled Artwork

9 ธันวาคม 2567 ห้องพิจารณาคดีที่ 903 ศาลอาญานัดแอมป์-ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 358, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

เวลา 09.25 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับผู้ร่วมสังเกตการณ์ว่าให้ย้ายไปฟังคำพิพากษาไปที่ห้อง พิจารณาคดีที่ 608 จากหลังนั้นเวลาประมาณ 09.35 น. แอมป์-ณวรรษ เดินทางมาถึงยังห้องพิจารณาคดี อีกสิบนาทีถัดมาศาลออกนั่งบัลลังก์ สำหรับบรรยากาศในการพิจารณาคดีมีประชาชนมาร่วมให้กำลังใจสี่คน 

เวลา 12.24 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยมีใจความว่า ในความผิดตามมาตรา 112ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เป็นที่เคารพสักการะ ก่อให้เกิดผลกระพบต่อความรู้สึกของสุจริตชนที่มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ลำพังเพียงจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนและเจ็บป่วย ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะเห็นเป็นการสมควรให้โอกาสกลับตัว โดยรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษและกำหนดมาตรการในการคุมประพฤติแก่จำเลย เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพความผิดและยังไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น 

ส่วนความผิดฐานโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ระวางงโทษปรับไม่เกิน 200 บาท การที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย 1,000 บาท เกินไปกว่าโทษปรับที่กฎหมายกำหนด ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง  ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองและระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยพ.ศ. 2565 ใช้บังคับโดยมาตรา 39 ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติเป็นความผิดทางพินัยและให้ถือว่าอัตราโทษต่ออาญาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัยจึงให้ปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย

และเมื่อคดีฟังได้ว่าเจ้าพนักงานยึดผ้าสีแดงยาวประมาณ 30 เมตรที่จำเลยกับพวกได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลางและโจทก์มีคำขอให้ริบของกลางดังกล่าวแต่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยว่าจะริบของกลางหรือไม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186(9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลมีอำนาจสั่งยึดทรัพย์สินของกลางได้ จึงไม่ใช่การเพิ่มเติมโทษจำเลย 

พิพากษาแก้เป็นว่าฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับเป็นพินัย 200 บาทไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยให้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยพ.ศ. 2565 มาตรา 30 และ 31 และริบผ้าสีแดงยาวประมาณ 30 เมตรซึ่งเป็นของกลาง โทษในความผิดฐานอื่นนอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผู้พิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ ทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร, ณเรศ ทรงประกอบ และวิรัตน์ กาญจนเลขา

เวลา 12.42 น. ตำรวจศาลเข้าควบคุมตัวแอมป์-ณวรรษ พร้อมใส่กุญแจมือและนำตัวลงไปยังห้องเวรชี้เพื่อรอการประกันตัว ต่อมาเวลา 16.45 น. ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ทำให้แอมป์-ณวรรษ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที