ข่าวประจำวัน » เสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน !! สว.สมชาย ชี้ ระวังค่าโง่อัลไพน์

เสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน !! สว.สมชาย ชี้ ระวังค่าโง่อัลไพน์

23 January 2025
13   0

“อดีต สว.สมชาย” แนะ 3 ทางออกแก้ปมที่ดินอัลไพน์

ชี้การโอนกรรมสิทธิ์ถือเป็นโมฆะแต่ตั้งต้น ติงการชดเชย “สนามกอล์ฟ-บ้านจัดสรร” ต้องคิดให้ดี เตือน “อุ๊งอิ๊ง” คิดให้ดีอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือฝ่าฝืนผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และประมวลจริยธรรมนักการเมืองเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ​โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ

“จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 4) เรื่อง ข้อเสนอแก้ปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์และหมู่บ้านจัดสรร โอนคืนวัดธรรมิการามเพื่อเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามกฎหมาย และการจ่ายเงินเยียวยาที่อาจเข้าข่าย

ประโยชน์ทับซ้อนหรือผิดกฎหมาย” ว่า ตามที่เคยเสนอข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นมายังนายกรัฐมนตรีในจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 1-3 เพื่อพิจารณาสั่งการตามหน้าที่และอำนาจ ในการแก้ไขให้โอนที่ดิน 924 ไร่ ตามพินัยกรรมของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เพื่อคืนเป็นของวัดธรรมิการามวรวิหาร ให้ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามกฎหมาย

โดยได้เคยแนบเอกสารประกอบมาด้วย อาทิ สรุปคำพิพากษาคดีอัลไพน์ บันทึกความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) บันทึก timeline ของคดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ฯลฯ

ความทราบแล้วนั้นบัดนี้อยู่ระหว่างที่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กำลังดำเนินการจะโอนที่ดินดังกล่าว คืนเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามเดิม แต่จะมีการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยเยียวยาถึง 7,700 ล้านบาทนั้น มีข้อกังวลว่า อาจจะมีการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายซ้ำขึ้นอีก

จึงขอนำข้อกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ได้รับทราบและพิจารณาดำเนินการให้ที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าวที่มีการจำหน่ายจ่ายโอนมิชอบกลับเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางเยียวยา ใน 3 ประเด็น ดังนี้

1) ตามกฎหมาย คำพิพากษา ความเห็นที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดินดังกล่าวตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตั้งแต่วันที่คุณยายเนื่อม ถึงแก่กรรม โดยวัดธรรมิการามได้หาประโยชน์ให้เช่าทำนาต่อเนื่องมา ไม่ได้มีการคัดค้านการรับมรดกที่ดินดังกล่าว ดังนั้นการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดิน 924 ไร่ที่นางเนื่อมทำพินัยกรรมมอบให้วัดเพื่อใช้หาประโยชน์ในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา

โดยเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนขาย เพื่อทำหมู่บ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟอัลไพน์ จึงเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 150 ที่บัญญัติว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ” ประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2497 “ที่ธรณีสงฆ์นั้น แม้ผู้ใดจะครอบครองมาช้านานเพียงใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง”ทั้งนี้ เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นแนวเดียวกัน ตามนัยที่ว่านี้มาแต่เดิม คือ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 มาตรา 7 ว่า

“ที่วัดก็ดี ที่ธรณีสงฆ์ก็ดี เป็นสมบัติสำหรับพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภกทรงปกครองรักษาโดยพระบรมราชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้” และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2546 เจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์

การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องกระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 คือ โอนกรรมสิทธิ์โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินดังกล่าวจะได้มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลย เมื่อมิได้กระทำตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 จึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย “ย่อมเป็นโมฆะ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

2) แนวทางเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ซื้อบ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟให้เช่าได้หรือไม่ เมื่อกรมที่ดินดำเนินการให้ที่ดินคืนเป็นของวัดธรรมิการามและตกเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้ว วัดสามารถหารายได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยการทำสัญญาให้เช่าที่ดินแก่ชาวบ้านหมู่บ้านราชธานีที่ได้รับผลกระทบเพื่ออยู่อาศัย ย่อมทำได้อย่างถูกกฎหมาย ตามมติมหาเถรสมาคม และสมดังเจตนารมณ์คุณยายเนื่อมผู้มอบที่ดินให้วัด

โดยกระทำการได้เช่นเดียวกับวัดทั่วไปที่ให้ชาวบ้านเช่าที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ส่วนการพิจารณาให้เช่าเพื่อทำสนามกอล์ฟต่อไปได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่วัดธรรมิการามวรวิหาร สำนักพุทธศาสนา ที่ต้องเป็นไปตามมติมหาเถรสมาคมเรื่องการให้เช่าที่ดินของวัดต่างๆ ด้วย ผู้เกี่ยวข้องอาจต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า การให้เช่าที่ดินเพื่อทำสนามกอล์ฟ เป็นสถานที่เพื่อการกีฬา สถานที่เพื่อความสนุกสนานบันเทิงหรือเข้าข่ายเล่นพนัน เป็นอบายมุขหรือไม่ หรือเป็นกิจต้องห้ามของพระภิกษุสงฆ์หรือไม่ ดังนั้น การให้เช่าที่ดินวัดทำสนามกอล์ฟต่อ จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างยิ่ง

3) ตั้งงบประมาณรัฐชดเชยเยียวยา 7,700 ล้าน ได้หรือไม่ ตามที่อธิบดีกรมที่ดินให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมจะตั้งงบประมาณจ่ายชดเชยถึง 7,700 ล้านบาท เป็นเรื่องที่นายกฯ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะหากเป็นเรื่องที่ประชาชนผู้เสียหายที่เป็นผู้ซื้อโดยสุจริต ต้องเป็นผู้ฟ้องไล่เบี้ยจากผู้ขายที่ดินเดิมหรือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ห้ามสิทธิที่จะฟ้องร้องกรมที่ดินที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ซึ่งหน่วยงานรัฐคือกรมที่ดินจะต้องให้อัยการสู้คดีอย่างเต็มที่พิสูจน์ว่า ขบวนการซื้อขายที่ดินนั้นไม่สุจริต เจ้าหน้าที่รัฐทำตามกฎหมาย และหากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จ่ายเยียวยา ก็จะเป็นความรับผิดเฉพาะส่วน และจะไม่ใช่ราคา 7,700 ล้านบาทที่คิดเอาเอง ที่ผ่านมา ศาลจะพิพากษาให้ชดใช้ราคาที่ซื้อขายขณะนั้นพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น

หลักสำคัญต้องพิจารณาว่า การซื้อขายนั้นสุจริตและสำคัญผิดหรือไม่ นายกฯ ต้องระมัดระวังในเรื่องอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือฝ่าฝืนผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และประมวลจริยธรรมนักการเมือง ด้วยเหตุที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหารบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ แม้จะมีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นให้กับครอบครัวหลังเป็นนายกฯ แล้วก็ตาม.