.
วันนี้ (5 ก.พ. 68) ที่รัฐสภา เครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. พรรคเพื่อไทย เป็นผู้แทนรับหนังสือ นายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มีนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้แทนรับหนังสือ และนายประภาส ปิ่นตบแต่ง ประธานคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเรียกร้องให้พิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย เพื่อเดินหน้ากระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
.
หนังสือของเครือข่ายฯ มีใจความระบุถึงปัญหาที่เกิดจากการยึดอำนาจของ คสช. ที่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและผูกขาดการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ พร้อมชี้ถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งสร้างความมั่นคงของรัฐ ไม่ยึดโยงกับประชาชนเป็นผลให้การเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 ถูกบิดเบือนจากเจตนารมณ์ของประชาชน โดยมี สว.ที่แต่งตั้งโดย คสช. เป็นปัจจัยสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน รัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือแย่งชิงทรัพยากรและริดรอนเสรีภาพของประชาชน
.
เครือข่ายประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งได้ติดตามผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มากว่า 7 ปี จากคำมั่นสัญญาของทุกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 2566 การลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าสู่สภาในแต่ละครั้งเพื่อหวังให้เข้ามาผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพวกเราเห็นว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้นล้วนมีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืนคือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีโครงสร้างอำนาจเป็นประชาธิปไตย มีความยึดโยงกับประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ฉะนั้นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศเช่นกัน
.
เครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
.
1.ขอให้พิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไป
.
2.ขอให้ยืนยันหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตรา ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการทหาร การงดเว้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 จึงเป็นการรับรองอำนาจของเผด็จการทหาร ทำลายอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย
.
3.ขอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 % เพื่อให้ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนและให้มีกระบวนการในส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
ด้านนายชนินทร์ และนายณัฐพงศ์ ยืนยันว่าจะผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. ที่มาจากประชาชน เช่นเดียวกับนายประภาส ที่ย้ำว่าการสถาปนาการรัฐธรรมนูญโดยประชาชนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้ง สสร. ที่ยึดโยงกับประชาชนและมาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวจะผลักดันให้เกิดกระบวนการนี้และจะนำข้อเรียกร้องของประชาชนไปพิจารณา
.
ขณะที่นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดชอบร่วมของทั้งรัฐบาล ที่ผ่านมาตนเองไม่ได้ยินเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีนอกจากวันแถลงนโยบาย ในขณะที่วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้ามาในสัปดาห์หน้าแล้ว อย่างน้อยที่สุดขอให้นายกรัฐมนตรีพูดคำว่ารัฐธรรมนูญสักครั้งให้ได้ยินก่อนที่สภาฯ จะพิจารณา ขณะที่ทาง สว. เองก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องได้เสียง 1 ใน 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเองจึงอยากย้ำว่ารัฐบาลต้องช่วยส่งเสียงเพื่อให้ สว.คล้อยตาม