.
‘ยิ่งชีพ-ถา’ นัดหน้าสภาฯ ปักธง ‘ส.ส.ร.เลือกตั้งเท่านั้น’ ไม่เอาครึ่งๆ กลางๆ เผย ผ่านไม่ผ่านก็งานหนัก ยันจะย้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าได้ ‘รัฐธรรมนูญฉบับปชช.’ ขณะที่นักศึกษา 7 มหาวิทยาลัย แถลงเรียกร้องต้องแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา
.
เนื่องด้วยวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับ ฉบับแรกเสนอโดย ส.ส. พรรคประชาชน และอีกฉบับเสนอโดย ส ส. พรรคเพื่อไทย สาระสำคัญคือแก้ไข ม.256 และ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 200 คน เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดทำฉบับใหม่นั้น
.
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดวงพูดคุยในหัวข้อ “ปลดล็อกประชาธิปไตย เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกหมวดทุกมาตรา” เนื่องด้วยวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับส.ส.พรรคประชาชน และฉบับส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยสาระคำสคัญคือแก้ไขมาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีผู้มีประสบการณ์ด้านการร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนผู้ที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในเวทีดังกล่าว
.
อาทิ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตอาจารย์ประจำและอดีตหัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw หนึ่งในผู้ริเริ่มแคมเปญ #conforall, นางจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไท และอดีตผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) และ นายณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) และสมาชิกคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
โดยในช่วงแรก มีการแลกเปลี่ยนความเห็นใน ‘หมวดสิทธิ’ จากนั้นต่อด้วยหมวด ‘ หน้าที่ของรัฐ’ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
.
เยาวชนหญิง รายหนึ่งสอบถามว่า อยากทราบว่าจะมีกลไกคัดสรร ส.ส.ร.อย่างไรได้บ้าง ซึ่งเราอยากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ตามเจตจำนงของประชาชน อยากให้ ส.ส.ร.มีคุณสมบัติ ที่มาอย่างไร รวมถึงมีข้อเสนออย่างไรให้รัฐบาลที่ถ้ารับไปทำ เพื่อให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
นายยิ่งชีพกล่าวว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 % รายละเอียดส่วนอื่นไม่ซีเรียส หลักการขอแค่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะแบ่งอำเภอ จังหวัด ภาคอย่างไร ที่เหลือให้ ส.ส.ร.ไปคิดกันต่อได้
ด้าน นายณัชปกร หรือ ถา จาก CALL กล่าวเสริมว่า รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและส่งเสริม แต่รัฐธรรมนูญ 60 ไปเพิ่มหมวดหน้าที่ของรัฐขึ้นมา โดยดึง ‘สิทธิของประชาชน’ ไปเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ กลายเป็นรัฐคิดแทนประชาชนว่าสมควรได้รับเท่าไหน
.
.
ในส่วนที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร.เราเห็นแล้วว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญแบบคนกลุ่มหนึ่งไปประชุมลับๆ แล้วร่างออกมานั้น ไม่ตอบโจทย์ประชาชน การที่ประชาชนจะได้เข้าไปร่าง จะทำอย่างไรให้มีคนที่ไว้วางใจเข้าไปร่าง หลักการง่ายที่สุดคือ ‘การเลือกตั้ง’ ซี่งระบบเลือกตั้งค่อยถกกันต่อได้
ดังนั้น ส.ส.ร.ต้องมีตัวแทน ทั้ง 1.ตัวแทนในเชิงพื้นที่ เพราะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 2.ต้องมีตัวแทนเชิงประเด็น เช่น ระบบปาร์ตี้ลิสต์ คนที่มีความหลากหลายรวมกลุ่มกัน ลงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง LGBTQ ฯลฯ
3.ตัวแทนที่ไม่สามารถส่งเข้าสู่ระบบได้ อีกกลุ่มที่ถูกละเลยคือ ‘เยาวชน’ ที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการร่างได้ จะทำอย่างไรให้มีสัดส่วนนี้
นายณัชปกรยังกล่าวย้ำถึง การปักธงให้ชัดว่ารัฐธรรมนูญต้องมาจาก ส.ส.ร. เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเดินหน้าผ่านวาระ 3 ประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจในด่านสุดท้ายเอง (หากได้ฉบับใหม่ที่ไม่ตรงกับเจตจำนงของประชาชน จะลงประชามติไม่รับ)
.
.
ในตอนหนึ่ง เมื่อนายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ถามว่า ไทม์ไลน์หลังประชุมพรุ่งนี้แล้ว ไทม์ไลน์ต่อไปจะเป็นอย่างไร ?
นายยิ่งชีพกล่าวว่า เข้าใจว่า ทุกท่านคงเข้าใจตรงกันว่า เราจะไม่ได้รัฐธรรมนูญทันวันศุกร์นี้ เพราะเป็นเพียงขั้นตอนการรับหลักการ แก้ไข ม.256 เราแค่อยู่บันไดก้าวแรก ซึ่งถ้ารับ จะต้องใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนในการพิจารณาแก้ไขรายมาตราอีก (เชื่อว่าจะมีความพยายามในการปรับแก้อีก) แล้วกลับมาในวาระที่ 3
“ถ้าเป็นร่างที่พอใช้ได้ เราจะต้องกล้ำกลืนฝืนทน รับประชามติ ‘รับไปเถอะ ไม่อย่างนั้นไม่ได้ไปต่อ’ แต่มันจะไม่มีร่างที่ดีที่สุดเข้าไป แต่ถ้าเกิดเป็นร่างที่แย่มาก เราก็ต้องโหวตคว่ำ
ส่วน ‘ถ้าผ่าน’ อย่างเร็วคือ ปีหน้าจะได้เลือกตั้ง ส.ส.ร.กัน แต่ถ้าไม่ผ่าน เราไม่ได้ถอยหลัง แต่ก็ยังอยู่ที่เดิม” นายยิ่งชีพกล่าว
โดย นางจีรนุชกล่าวเสริมว่า ถ้าคนอื่นก้าวไปข้างหน้า เรายังอยู่ที่เดิม เท่ากับเรากำลังถอยหลัง
นายยิ่งชีพกล่าวด้วยว่า ในประเทศไทยเราไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. และไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ สักครั้ง โดยฉบับปี 40 ก็นับว่าประขาชนมีส่วนร่วมบ้าง แต่ก็ไม่ได้เลือกตั้ง ส.ส.ร. ดังนั้น จึงเป็นความฝันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“ทันทีที่เกิดขึ้น เท่ากับอำนาจอยู่ในมือประชาชน ซึ่งไม่น่าจะยอมให้เป็นไปได้ จึงต้องเดินหน้าต่อจนไม่รู้จะอ้างอะไร แต่ถ้าได้ฉบับหลอกๆ ไม่เอา ไม่เอาครึ่งๆ กลางๆ ต้องปักธงว่าเราต้องการอะไร เราต้องการ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100%’ เราจะถามคำถามนี้ไปเรื่อยๆ ถาม 5 ครั้งแล้ว และจะถามไปเรื่อยๆ ออกกำลังกายเยอะๆ หาหมอ กินอาหารดีๆ”
“ถ้าจะให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.เลือกครึ่งนึง แต่งตั้งครึ่งนึง ไม่เอาดีกว่า ถ้าทำประชามติ แต่เป็นคำถามแปลกๆ ปิดกั้น ไม่เอาดีกว่า ผมว่าทางมันจะเป็นไปอย่างนี้
“หรือถ้าประชามติคำถามไม่โอเค ไม่เอาดีกว่า ซึ่งไม่ใช่พรุ่งนี้ไปเดินขบวนกันเยอะ แล้ว ส.ว.จะยกมือให้ แต่เราจะไปปักหมุด ให้คนที่โหวตตกมีต้นทุนมากขึ้น ให้ชีวิตเขามันยากขึ้นนิดนึง” นายยิ่งชีพกล่าว และว่า ถ้าสมมติว่าผ่าน เราก็จะฉลองวาเลนไทน์แบบแฮปปี้ แต่ตนก็ไม่เชื่อว่าจะคืนอำนาจง่ายๆ ต้องมีการหาเรื่องแทรกแซง ไปเหนื่อยกันอีกในอนาคต
“หรือเลวร้ายกว่านั้น คือให้ผ่านแล้วโกงเลือกตั้ง ส.ส.ร. ดังนั้นงานวันข้างหน้าเหนื่อยมาก พรุ่งนี้เราจะไปส่งเสียง เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านก็งานหนัก” นายยิ่งชีพกล่าว
นายยิ่งชีพ กล่าวต่อด้วยว่า วันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์นี้ มีนัดหมาย ‘ชวนกันแบกกล้วยไปให้ส.ว. อยากเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก็แค่กล้วยๆ’ ไปฉลองวาเลนไทน์ด้วยกันหน้ารัฐสภา นอกจากนี้ ยังเชิญชวนร่วมลงชื่อ เรียกร้องรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ “ผ่าน 256 สักที! อยากมี สสร. เลือกตั้ง” โดยร่วมลงชื่อได้ทาง https://www.change.org/passed-256
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในช่วงท้าย ตัวแทน 9 องค์กร 7 มหาวิทยาลัย รวมแถลงชวนส.ว.ทำเรื่องกล้วยๆ ซึ่งเนื้อหาระบุถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง