.
หลังจากมติชน ได้นำเสนอข่าวแพทยภา ได้แถลงความคืบหน้าชั้น 14 ระบุว่า
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่อาคารแพทยสภา ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา พร้อมด้วย รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และ รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา กรรมการแพทยสภา แถลงข่าวภายหลังการประชุมแพทยสภาประจำเดือน ครั้งที่ 4/2568 ถึงการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กรณีการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่า ตนขออธิบายขั้นตอนการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีแพทย์ถูกร้องเรียน โดยเริ่มต้นจากเมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามา ก็จะมีการส่งเรื่องไปยังลำดับที่ 1 คณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณา ซึ่งมีกรอบเวลาในการทำงาน 4 เดือน ขยายเวลาได้ 2 เดือน จากนั้นจะนำมติเข้าสู่ลำดับที่ 2 อนุกรรมการกลั่นกรอง ให้ความเห็นเพิ่มเติมประกอบในสำเนา มีกรอบเวลาทำงาน 1-2 เดือน จากนั้นก็จะส่งมายังลำดับที่ 3 คณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ที่มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง โดยขั้นตอนนี้มีกรอบเวลา 1-2 เดือนในการพิจารณาว่าคดีที่ถูกร้องมีมูลหรือไม่ หากไม่มีมูลก็จะจบไป แต่ถ้ามีมูลก็ต้องสอบสวนเพิ่มเติมในลำดับที่ 4 อนุกรรมการสอบสวนพิจารณาคดีต่อ ซึ่งมีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าจะต้องสิ้นสุดลงเมื่อใด โดยนับเวลาตั้งแต่วันที่อนุกรรมการสอบสวนได้รับเอกสาร จะให้เวลาประมาณ 180 วัน หรือ 6 เดือน ให้มีมติว่ามีการ “ยกข้อกล่าวหา” หรือ “ผู้ถูกร้องมีความผิด”
.
.
“กรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ถ้าเห็นว่าสอบสวนไม่ทัน เช่น ต้องใช้เวลารอเอกสาร ติดต่อไม่ได้ จะมีการขยายเวลาได้ครั้งละ 1 เดือน เต็มที่ไม่เกิน 120 วัน 4 เดือน ดังนั้นระยะเวลาที่อยู่ในอนุกรรมการสอบสวน ถ้าไม่มีการต่ออายุจะจบสิ้นภายใน 6 เดือน ขยายเต็มที่ก็ไม่ให้เกิน 4 เดือน” รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าว
.
.
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวต่อว่า จากนั้นสำเนาจะถูกส่งไปยังลำดับที่ 5 อนุกรรมการกลั่นกรองที่มีบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายระดับประเทศ ให้ความเห็นต่อคดีเพื่อให้มีความแน่นหนาต่อการทำสำนวน ต่อมาก็จะส่งมาลำดับที่ 6 คณะกรรมการแพทยสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่ามีผู้ถูกร้องมีความผิด ต้องลงโทษอย่างไร หรือต้องมีการยกข้อกล่าวหาไป สุดท้ายจะเป็นลำดับที่ 7 เสนอต่อสภานายกพิเศษ ซึ่งถ้ามีการพิจารณาโต้แย้ง ก็จะต้องย้อนกลับมายังคณะกรรมการแพทยสภาลงความเห็น ถ้า 2 ใน 3 ยืนยันมติเดิมก็จะมีการยื่นต่อศาลปกครองต่อไป แต่ถ้าเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ก็จะถือว่ายึดตามความเห็นของสภานายกพิเศษ
“ส่วนคดีที่เป็นประเด็นตอนนี้ ยังอยู่ในลำดับที่ 4 และกรอบเวลายังไม่ถึง 6 เดือนแรก ฉะนั้น กรณีนี้ยังอยู่ในคณะอนุกรรมการสอบสวน จึงยังไม่ได้มีการบรรจุวาระใดๆ เข้ามาในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เพียงแต่อาจเป็นความคลาดเคลื่อนของการสื่อสาร เพราะขั้นตอนลำดับที่ 4 อนุกรรมการสอบสวนยังไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นขั้นตอนตามปกติในทุกกรณีในข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยวิธีพิจารณาจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2563” รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าว
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าแพทยสภาทำตามกระบวนการและพยายามกำกับให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งท่าน ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ที่เป็นประธานอนุกรรมการสอบสวนฯ ยังทำหน้าที่เต็มที่และมีอิสระในการทำงาน ดังนั้นข้อมูลต่างๆ จะไม่มีการเผยแพร่ออกมาก่อน เพื่อให้สอบสวนเป็นไปตามที่ควรเป็น ย้ำว่าถ้าสำนวนยังไม่สิ้นสุด ก็จะไม่มีการเสนออะไรใดๆ เข้ามาในคณะกรรมการแพทยสภาแน่นอน
.
.
เมื่อถามกรณีที่มีการส่งเอกสารเข้ามาเพิ่มเติม ภายหลังจากที่อนุกรรมการสอบสวนมีการทำสำนวนเสร็จแล้วสามารถทำได้หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยวิธีพิจารณาจริยธรรมฯ ระบุว่า อนุกรรมการสอบสวนต้องรับพยานหลักฐานจากผู้ถูกร้องที่ยื่นมาให้ “ยกเว้น” พยานหลักฐานนั้นไม่ได้เกี่ยวกับคดี หรือมีลักษณะที่เป็นการประวิงเวลา ก็จะไม่รับ ซึ่งถ้าอนุกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าจะรับเอกสารเพิ่ม ก็จะมีการรายงานเรื่องเหล่านี้ในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาซึ่งอยู่ในลำดับที่ 6
“ส่วนกรณีดังกล่าวนี้ ทางอนุกรรมการสอบสวนได้ออกแถลงการณ์มาแล้วว่า เอกสารที่สำคัญต่อการพิจารณาคดีนั้นเพียงพอครบถ้วนแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการแพทยสภาก็ยังไม่ได้เห็นข้อมูลอะไรใดๆ ทั้งสิ้น” ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
.
.
เมื่อถามย้ำว่าการพิจารณาคดีของนายทักษิณ จะมีกรอบเวลาที่สิ้นสุดแน่นอนในเดือนใด ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตามกรอบเวลาที่ได้แจ้งทั้งหมดแล้วนั้น ต่อให้อนุกรรมการสอบสวนขอขยายเวลาจาก 6 เดือนเพิ่มอีก 4 เดือน ก็คิดว่าไม่ควรเกินปีนี้ แต่ก็ไม่อยากให้เป็นการแทรกแซงอนุกรรมการสอบสวน ดังนั้นเราก็จะไม่เที่ยวไปสอบถาม
ขณะที่ รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่า คดีดังกล่าวมีการส่งเรื่องมาช่วงเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งนับเวลามาถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ในเดือนที่ 5 ยังไม่ถึง 6 เดือนแรกตามกรอบเวลา ถ้าคำนวณจากกรอบแรกก็จะจบภายในเดือนมิถุนายน แต่ถ้ามีการขยายออกไปก็ได้มากสุด 4 เดือน
สิ่งที่ตามมาคือมีทัวร์ลง โจมตีแพทยสภากว่า 200 ข้อความ