เครือข่ายสถาบันยางภาคใต้เตรียมยกระดับการเรียกร้องรัฐแก้ปัญหาราคายางตก หลังนายกรัฐมนตรีเมินไม่ประกาศ ม.44 ส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ และไม่พอใจคำตอบแนวทางการแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรี
นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ พร้อมด้วยนายวิรัตน์ อันธรัตน์ นายสมบูรณ์ ทองแย้ม และนายทองยศ รักษ์เมือง กรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง แถลงในนามของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ ต่างก็มีความเห็นเหมือนกันตรงกันว่าไม่เห็นด้วยนายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่า แนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราจะต้องจัดการกับพื้นที่ปลูกยางในที่ดินบุกรุกจำนวน 3 ล้านไร่ และจะให้หยุดกรีดในที่ดินที่ไม่เอกสารสิทธิ์
“เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไม่เห็นอย่างยิ่ง เพราะผลผลิตปริมาณที่เรามีมากอย่างที่นายกฯพูด เราต้องบริหารจัดการควบคุมดูแลตลาดจึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องมากกว่า ที่จะบอกให้หยุดกรีด ด้วยการยึดพื้นที่คืน เพียงแค่นำยางในส่วนที่เกินมาใช้ในประเทศด้วยการส่งเสริมให้มีการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐให้มากจึงจะเป็นทางแก้ที่ดีที่สุด”
นายถนอมเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงว่าการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ในเรื่องการทำถนนต้นทุนสูงกว่าปกติถึง 30% แต่นายกรัฐมนตรีพูดโดยไม่คำนึงถึงความทนทานที่มีมากกว่า ดังนั้นน ต้นทุนที่สูงขึ้นเพียง 30% แต่เกิดความทนทานกว่าถึง30% เช่นกัน ก็ถือว่าคุ้มค่ากว่า และการที่ทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกฯประกาศใช้มาตรา 44 ในการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยเริ่มที่นำยางพารามาใช้ในการทำถนนก่อน ไม่ได้หมายความว่าเรียกร้องให้นำยางพารามาทำถนนทั้ง 100% แต่เราเรียกร้องแค่ว่า ใน 1 ปี เราน่าจะนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการทำถนนประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร หรือสามารถใช้ยางให้ได้ประมาณ100,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ประจำปีอยู่ในการสร้างถนนอยู่แล้ว รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐหรือใช้ยางในประเทศอื่นๆ เป็นแนวทางที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลควรจะทำ เพื่อลดผลิตในตลาด
นายถนอมเกียรติ กล่าวอีกว่า เมื่อการเรียกร้องไม่ได้ผล รัฐบาลไม่สนใจ และทราบข่าวว่าภาคใต้ตอนล่าง จะนำโดยนายถาวร เสนเนียม และเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ ซึ่งขณะนี้แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทุกจังหวัดได้ต่อสายพูดคุยกันตลอดเวลา และเราก็ตกลงใจร่วมกันว่า หากมีเวทีเกิดขึ้น และในขณะเดียวกันที่รัฐบาลยังไม่คิดที่จะช่วยเหลืออย่างจริงจัง ยังไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาของเกษตรกร
“ทางเครือขายสถาบันเกษตรกรชาสวนยางภาคใต้ ก็พร้อมจะเข้าร่วมทุกเวทีไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่จังหวัดใดก็ตาม และการเปิดเวทีก็ไม่กำหนดเวลาสิ้นสุดด้วย รวมทั้งอาจหมุนเวียนเกิดขึ้นพร้อมๆกันทั้งภาคใต้ตอนล่าง ตอนกลาง และตอนบน หมายความว่าจะมีการยกระดับการเรียกร้องขึ้นมา จากการที่เคยจัดประชุม ยื่นหนังสือผ่านจังหวัด, กยท. ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และทุกแห่งที่คาดว่าจะเรียกร้องไปถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาเราไปยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านมาหมดแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ และราคาก็ดิ่งลงทุกวัน โดยในวันนี้ราคาน้ำยางสดตกลงมาเหลือกิโลกรัมละ 38 – 40 บาทแล้วเท่านั้น ประกอบกับที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดเมื่อ 2คืนที่ผ่านมา เป็นเรื่องทำให้เกษตรกรชาวสวนยางรับไม่ได้และพร้อมจะร่วมเวทีทุกแห่งที่จะเกิดขึ้นในกี่วันข้างหน้า” นาถนอมเกียรติ กล่าว
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน