วันที่ 13 กรกฎาคม ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาทบทวนความเห็นแย้ง 6 ประเด็น ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว
แนวหน้า – นายสรุชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะประธานกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า กกต. ได้ทำความเห็นโต้แย้ง 6 ประเด็น ที่อาจทำให้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้แก่ 1.มาตรา 11 วรรค 3 การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหา กกต. เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ 2.มาตรา 12 วรรค 1 การกำหนดคุณสมบัติของ กกต. เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ 3.มาตรา 26 หน้าที่และอำนาจของ กกต. แต่ละคน 4.มาตรา 27 อำนาจการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 5.มาตรา 42 การบัญญัติให้กกต. มอบอำนาจการสอบสวนได้ 6.มาตรา 70 วรรค 1 การให้ประธานกกต.และกกต. ที่ดำรงตำแหน่งในวันก่อนที่ พรป. มีผลบังคับใช้ พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วย สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และประธาน กกต. พิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมากในแต่ละประเด็นว่า ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และตรงตามเจตนารมณ์ทุกประการ จึงไม่มีการแก้ไขร่างที่สนช.ให้ความเห็นชอบแล้วแต่อย่างใด
จากนั้น นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อยในคณะกรรมาธิการร่วม 3ฝ่าย ได้อภิปรายประเด็นที่สงวนความเห็นทั้ง 6 ประเด็นต่อที่ประชุม โดยยืนยันว่า แต่ละประเด็นมีความขัดแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 70 วรรค 1 ที่ระบุให้กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับจากวันที่พ.ร.ป.มีผลบังคับใช้ ถือว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 2 และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล ประเพณีรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นการออกกฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ เพราะองค์กรอิสระอื่น อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
นายศุภชัย กล่าวว่า กมธ.ได้แก้ไขเนื้อหาที่เป็นหลักการสาระสำคัญของ กรธ. โดยมิได้รับฟังเหตุผลให้รอบด้านจากผู้เกี่ยวข้อง และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา การให้ กกต. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เป็นการจำกัดและลิดรอนสิทธิบุคคลมากเกินไป เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อการคงอยู่ของกกต.อันเป็นผลประโยชน์ส่วนตน แต่ในฐานะนักกฎหมาย เมื่อเห็นว่าร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จึงต้องโต้แย้ง กกต.ต้องรักษาศักดิ์ศรี แม้จะรู้ล่วงหน้าว่าผลจะออกมาอย่างไร สนช.เป็นผู้ออกกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม จึงขอให้พิจารณาทบทวนร่างพ.ร.ป.กกต.อีกสักครั้ง
ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. ในฐานะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า สิ่งที่กมธ.ลงมติไม่ได้ยึดตัวบุคคล แต่ยึดเจตนารมณ์และหลักการเป็นตัวตั้ง การลงมติเป็นไปด้วยจิตใจสะอาด สว่าง สงบ ปราศจากอคติในการใช้ดุลยพินิจ เป็นไปตามหลักการและเหตุผล บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุให้องค์กรอิสระต้องคงอยู่ต่อไป แต่ให้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและองค์ประกอบขององค์กรอิสระแต่ละแห่งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ไม่อยากให้มองว่าการดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเรื่องสิทธิ ถ้ามองเป็นเรื่องสิทธิก็จะคงอยู่ตลอดไป แต่ขอให้มองเป็นเรื่องการอาสามาปฏิบัติหน้าที่ และการให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 70 วรรค 1 ไม่ใช่การลงโทษ เพราะมีการระบุชัดเจนให้ผู้พ้นตำแหน่งได้รับบำเหน็จจากการพ้นการปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นการลงโทษคงไม่ระบุเรื่องนี้ไว้ และไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม แต่เป็นความจำเป็นเมื่อมีการปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่การออกกฎหมายย้อนหลังโดยเป็นโทษ
ทั้งนี้ ภายหลังทุกฝ่ายชี้แจงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมสนช.ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ด้วยคะแนน 194 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 ส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป และถือเป็นร่าง พ.ร.ป.ฉบับแรกที่สนช.ให้ความเห็นชอบ และเสร็จสิ้นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนด
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน