ราคายางกระทบต่อชนเผ่า “ซาไก” ที่คอยออกรับจ้างทำงานในเบตง
ยะลา – ไม่น่าเชื่อ! ราคายางพาราตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าอัสรี หรือ “ชาวซาไก” ที่คอยออกทำงานรับจ้างจากชาวบ้าน ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อแลกกับอาหาร หลังมีงานจ้างที่น้อยลง จึงได้รับค่าจ้างที่น้อยลงตามไปด้วย
วันนี้ (22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพร้อมกับคณะช่างภาพใน จ.ยะลา และทีมงาน TK ปาร์ค ยะลา เพื่อบันทึกภาพความเป็นอยู่ของชนเผ่าอัสรี หรือซาไก ในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา โดยทีมงาน TK ปาร์คยะลา จะดำเนินโครงการนิทรรศการภาพถ่าย และประวัติของชนเผ่าอัสรี ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้
โดยทีมงานได้มีการประสานกับ นายสุไฮมี มีนา เจ้าหน้าที่ อบต.อัยเยอร์เวง ในการนำทีมงานเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่ชนเผ่าอัสรีอาศัยอยู่ ตรงบริเวณ ม.9 บ้านลากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งทีมงานต้องเดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร เข้าไปยังแถบเทือกเขาใกล้ป่าฮาลาบาลา ในหมู่บ้านลากอ ก่อนที่จะเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 15 นาที เข้าไปในป่าทึบ
ซึ่งหลังจากเดินเท้าเข้าไปในป่าได้ประมาณ 10 นาที ก็พบกับทับ หรือที่อยู่อาศัยของชนเผ่าอัสรี หรือซาไก ที่ปลูกสร้างด้วยไม้นานาชนิด และใช้ผ้าเต็นท์พลาสติกปกคลุมเป็นหลังคา มีอาณาเขตไม่กว้างมากนัก
นายสุไฮมี มีนา เจ้าหน้าที่ อบต.อัยเยอร์เวง ก็ได้เข้าไปพบกับ “เฒ่าเด็ง” เฒ่าชราผู้นำชนเผ่าอัสรีกลุ่มนี้ ซึ่งภายในทับ หรือเพิงพักของเฒ่าเด็ง ก็มีอัสรีตัวน้อยๆ อีกประมาณ 3-4 คน และภรรยาของเฒ่าเด็ง ห่างออกไปประมาณ 3-4 เมตร ก็เป็นทับของ “เลาะ” อัสรีหนุ่มร่างกายกำยำ ซึ่งนั่งอยู่ภายในทับของตนเองที่มีลูกๆ คอยห้อมล้อมอยู่ด้วย
ซึ่งทีมงานที่เข้าไปในครั้งนี้ นายสุไฮมี มีนา ซึ่งมีความคุ้นเคยกับชนเผ่าอัสรีกลุ่มดังกล่าว ก็ได้แนะนำให้รู้จัก และบอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่เดินทางเข้ามาพบ ขณะเดียวกัน นายสุไฮมี มีนา ก็ได้เล่าให้แก่ผู้สื่อข่าวฟังว่า
“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนเองได้หลงทางอยู่ในป่า ขณะที่นำคณะนักวิจัยกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าป่า ก็เกิดการพลัดหลงกัน ตนเองเดินหลงป่าอยู่นานกว่า 12 ชั่วโมง ก็ได้รับการช่วยเหลือจากชนเผ่าอัสรีกลุ่มนี้ โดย “เฒ่าเด็ง” “เลาะ” และ “มะยูนิ” หลังจากที่เพื่อนๆ ได้รู้ว่าตนเองหลงป่า ก็ได้เดินทางมาพบกับ “เฒ่าเด็ง” เพื่อขอช่วยให้ออกตามหา ซึ่ง “เฒ่าเด็ง” ได้ให้ “เลาะ”กับ “มะยูนิ” เดินเท้าออกตามหา จนพบในช่วงใกล้ค่ำของวันดังกล่าว”
นายสุไฮมี ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ปกติแล้วชนเผ่าอัสรีกลุ่มนี้จะย้ายไปมาระหว่างเขตรอยต่อหมู่บ้าน กับป่าลึก ในถิ่นที่เคยอาศัย และยังมีกลุ่มอัสรีหนุ่มอีกหลายคนที่เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ได้ไปอาศัยอยู่ใกล้กับเขตหมู่บ้าน เพื่อทำงานรับจ้างจากชาวบ้าน ทั้งถางสวนยาง สวนผลไม้ รับจ้างเก็บยางพาราเพื่อหารายได้ หรือแลกเปลี่ยนอาหารจากชาวบ้านเป็นค่าจ้างในการทำงาน
เนื่องจากในป่าหาอาหารได้ยากแล้ว ชนเผ่าอัสรี จึงต้องออกมารับจ้างทำงานให้แก่ชาวบ้านในบริเวณรอยต่อของหมู่บ้าน เพื่อแลกกับอาหาร แต่ในระยะหลังมานี้ราคายางพาราตกต่ำ ก็ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอัสรี มีงานทำน้อยลง และได้รับค่าจ้างที่น้อยลง จึงมีบางส่วนที่เดินทางกลับเข้าไปอาศัยในป่า และออกหาอาหารในป่าลึก ตามแบบวิถีชีวิตของชนเผ่าอัสรี
จากการสอบถาม และพูดคุยกับชนเผ่าอัสรีดังกล่าว ก็ได้ทราบว่า อัสรีบางคนสามารถที่จะพูด และฟังได้ถึง 3 ภาษา คือ ภาษาของชนเผ่าอัสรี ภาษายาวี และภาษาไทย ที่พูดได้บ้างฟังได้บ้างพอเข้าใจ ซึ่งชนเผ่าอัสรีกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่เกือบ 50 ชีวิต มักจะย้ายที่อาศัยไปตามช่วงเวลาประมาณ 1-2 เดือนต่อครั้ง
MGR Online